ข่าวสาร ข้อมูล ทุกด้านต้องรับฟัง ไม่เชื่อสิ่งที่เห็น ฟังข่าวสารเพียงฝ่ายเดียว ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew ● ปรึกษาปัญหากฏหมาย ละเมิด,สัญญา,อายัดทรัพย์ ยึดทรัพย์ ปัญหาติดต่อราชการ ฟรี ● พิมพ์รายงาน,ค้นหาข้อมูล, ● งานพิมพ์ Lay-Out,Art Work สำนักพิมพ์ดาวหาง www.sanamluang.bloggang.com สนใจติดต่อสอบถาม workingmailhome@hotmail.com

"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

ฉันไม่ชอบกฎหมาย
Blognone
Bookmark and Share

วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2552

อันตราย! ใน พ.ร.บ. ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

July 18th, 2007
อันตราย! ใน พ.ร.บ. ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
จดหมายเปิดผนึกจาก คปส และ FACT ถึง พลเมืองไทย ว่าด้วยการบังคับใช้ พ.ร.บ. ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ 19 กรกฎาคม เป็นต้นไป

วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2550 คือวันที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นกฎหมายฉบับแรกที่ถูกผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายหลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549

ทั้งนี้ หลังการประกาศใช้ พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับใช้จริงภายใน 30 วัน ดังนั้น ในวันพรุ่งนี้คือวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 เป็นวันที่กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ต่อพลเมืองไทยทุกคน โดยเฉพาะปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ความเกี่ยวข้องกับการใช้คอมพิวเตอร์ในทุกมิติ อีกทั้งกระทรวงไอซีทีกำลังดำเนินการผลักดัน กฎกระทรวงซึ่งเป็นกฎหมายประกอบ พ.ร.บ. ความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 จำนวน 3 ฉบับ คือ

* หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ
* หลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.
* กฎกระทรวงว่าด้วยการยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส) และเครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย (FACT) เห็นความสำคัญในการมีกติกาสำหรับการป้องกันการก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณชน แต่เราไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการใช้พระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการควบคุมสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร (Communication Rights) ของพลเมือง

ทั้งนี้เรามีข้อสังเกตว่า

1. การออก พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ เป็นการออกกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างมากในการตรวจสอบข้อมูลทั้งโดยผ่านศาลและอำนาจโดยตรงของเจ้าหน้าที่ ซึ่งกฎหมายยังกำหนดด้วยว่าผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ท (Internet Service Providers-ISP) จะต้องเก็บข้อมูลย้อนหลังนานถึง 90 วันไว้ให้เจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องรับรู้ ดังนั้นหากเปรียบก็เหมือนเราจะถูกค้นบ้านได้โดยไม่ต้องมีหมายศาลและไม่ต้องแจ้งเรา นอกจากจะถูกค้นได้ภายในวันนั้นแล้ว ยังสามารถถูกย้อนหลังตรวจได้อีก 90 วัน ซึ่งนอกจากจะถูกลิดรอนสิทธิการตรวจสอบข้อมูลที่ถือได้ว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลในการสื่อสารแล้ว ขณะนี้ยังมีประเด็นที่เป็นข้อกังวลถึงความพร้อมในการบังคับใช้กฎหมายด้วยว่า เมื่อมีกฎหมายมาแล้ว แต่ในกฎหมายกลับยังไม่มีการระบุคุณสมบัติของเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติตามกฎหมายนั้นว่าจะได้มาอย่างไร ใครจะเป็นผู้แต่งตั้งมา ดังนั้นจึงต้องติดตามต่อไปว่าจะมีการระบุกติกาที่มาของเจ้าหน้าที่อย่างไร

2. การออกกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำผิดคอมพิวเตอร์ เป็นการออกกฎหมายตามที่เคยต้องการให้มีกฎหมายควบคุมสื่ออิเล็กทรอนิคส์ ที่เดิมออกแบบกฎหมายไว้ 6 เรื่องซึ่งจะมีทั้งการป้องกันปราบปราม และการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล แต่ปรากฏว่าในการออกกฎหมายครั้งนี้รัฐบาลตั้งใจเลือกจะออกแต่เฉพาะกฎหมายที่เป็นการปราบปราม ซึ่งกระทบและลิดรอนสิทธิประชาชนผู้สื่อสาร โดยรัฐบาลไม่คิดที่จะยกร่างกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมาใช้บังคับร่วมกันเลย ซึ่งหากจะออกฎหมายที่มีผลตรวจสอบข้อมูลการสื่อสารของบุคคลย้อนหลังได้ถึง 90 วัน รัฐก็ควรผลักดันให้ออกร่างกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วย

เราเกรงว่า นับตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป รัฐจะใช้กฎหมายดังกล่าวในการลิดรอนสิทธิความเป็นส่วนตัว (Right to privacy) และสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) ของประชาชนหนักข้อขึ้น ด้วยการใช้กฏหมายโดยมีเหตุผลซ่อนเร้นทางการเมืองมากกว่าการป้องปรามอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะในสถานการณ์การเมืองปัจจุบันที่สังคมไทยขาดความเป็นประชาธิปไตย และแนวโน้มในอนาคตที่รัฐอำนาจนิยมจะครอบงำสิทธิเสรีภาพพลเมืองไทยมากขึ้น เช่น การผลักดันกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ… หรือทิศทางการสืบทอดอำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช) เป็นต้น ดังนั้นจึงจำเป็นที่สังคมไทยจะต้องตื่นตัวเฝ้าระวังการใช้อำนาจรัฐคุกคามสิทธิของประชาชนอย่างจริงจังมากขึ้น

เราเห็นด้วยกับหลักการในการคุ้มครองเด็ก หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่รับความเสียหายจากการใช้คอมพิวเตอร์ แต่เราไม่เห็นด้วยที่รัฐจะมีอำนาจมากเกินไปในการควบคุมเซ็นเซอร์เนื้อหาสาระในสื่อคอมพิวเตอร์หรืออินเตอร์เนท จนกระทั่งทำให้เส้นแบ่งระหว่างการที่รัฐจะปกป้องผู้ที่ถูกกระทำจากคอมพิวเตอร์ กับการละเมิดสิทธิของพลเมืองโดยรัฐเองนั้นคลุมเครือยิ่ง

การเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าค้น ยึด อายัด สื่อคอมพิวเตอร์ได้นั้น ย่อมไม่ต่างจากแนวคิดรัฐอำนาจนิยมในอดีตที่ออกกฏหมายให้มีการยึดแท่นพิมพ์ หรือจับกุมเครื่องส่งกระจายเสียงสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ถ้ารัฐเห็นว่าการกระทำใดขัดต่อกฏหมายหรือความมั่งคงของรัฐ ทั้งที่กระบวนการร่างกฏหมายดังกล่าวนี้ ไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่สำคัญกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มาจากสภานิติบัญญัติซึ่งเป็นตัวแทนโดยตรงของประชาชนเลย แต่ผลก็คือเราทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างยอมจำนน

วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2550 เป็นวันที่กฏหมายดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้

คปส และเครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชน ชุมชนสื่อออนไลน์ ช่วยเผยแพร่ ข่าวสาร ความคิดเห็น หรือส่งเสียงประท้วงคัดค้าน ในกรณีที่มาตรการตามกฏหมายดังกล่าวนี้จะส่งผลกระทบต่อสิทธิความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการแสวงหาข้อมูล เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อคอมพิวเตอร์และ สื่อออนไลน์ โดยเฉพาะเสรีภาพของประชาชนที่มีจุดยืน ความคิด ความเชื่อ ความรู้สึกทางการเมืองแตกต่างจากอำนาจรัฐ

ถึงเวลาแล้วที่พลเมืองผู้ไม่ยอมรับการคุกคามสิทธิเสรีภาพผ่านสื่อออนไลน์ (Cyber dissidents) จักต้องรวมพลังกันติดตาม ตรวจสอบ คัดค้าน หรือประท้วงการใช้อำนาจของรัฐในทางมิชอบ ก่อนที่เราจะตกเป็นฝ่ายที่ถูกรัฐจัดการตรวจสอบและดำเนินคดีกับเราคนใดคนหนึ่งโดยไม่ทันรู้ตัว

เราต้องไม่ยอมให้รัฐรุกล้ำคุกคามสิทธิความเป็นส่วนตัว สิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเมื่อสิทธิเสรีภาพถูกยึดกุมไปได้แล้ว ยากที่เราจะเรียกร้องให้คืนกลับมา

ที่สำคัญ ความผิดทางอาชญากรรมเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เป็นคนละเรื่องกับเสรีภาพการนำเสนอข้อมูลและแสดงความคิดเห็นผ่านสื่ออินเตอร์เนท เพราะการพูดการเขียน การแสดงความคิดเห็นไม่ใช่อาชญกรรม อีกทั้งเวบไซต์การเมืองไม่ใช่เวบโป๊เปลือย การอ้างเรื่องการควบคุมเวบไซต์ลามกอนาจารพ่วงแถมด้วยการควบคุมเวบไซต์ทางการเมืองด้วยนั้น เท่ากับรัฐกำลังทำให้การเมืองเป็นเรื่องอนาจาร ที่ประชาชนไม่ควรดู ไม่ควรอ่าน ไม่ควรคิด ไม่ควรพูด หรือแสดงความคิดเห็น ความรู้สึกใดๆ ในพื้นที่สาธารณะ

เสรีภาพในการแสดงออกผ่านสื่อคอมพิวเตอร์ ไม่ต่างจากเสรีภาพสื่ออื่น เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ หรือสื่อสารมวลชนใดในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารเชื่อมถึงกันหมด (Convergence) ดังนั้นจึงต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง เพราะสิทธิเสรีภาพสื่อเหล่านี้คือสิ่งชี้วัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของระบอบประชาธิปไตย

คณะกรรมการณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส)
เครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย (FACT)

18 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

ติดต่อ คปส. สุภิญญา กลางณรงค์ freemdiafreepeople@yahoo.com
FACT อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล arthit@gmail.com, CJ Hinke facthai@gmail.com, โทรศัพท์ 02-6910574

http://www.fringer.org/?p=259

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รายการบล็อกของฉัน

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ข่าวสาร ข้อมูล ทุกด้านต้องรับฟัง ไม่เชื่อสิ่งที่เห็น ฟังข่าวสารเพียงฝ่ายเดียว ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew ● ปรึกษาปัญหากฏหมาย ละเมิด,สัญญา,อายัดทรัพย์ ยึดทรัพย์ ปัญหาติดต่อราชการ ฟรี ● พิมพ์รายงาน,ค้นหาข้อมูล, ● งานพิมพ์ Lay-Out,Art Work สำนักพิมพ์ดาวหาง www.sanamluang.bloggang.com สนใจติดต่อสอบถาม workingmailhome@hotmail.com