| วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11477 มติชนรายวัน
"แม่สู้ชีวิต" รางวัลสำหรับคนเป็นแม่ บุญคุณที่ทดแทนไม่หมด โดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม
 แม่เพ็ญ ปรีชากุล แม่ของลูกชายพิการ 3 คน ที่ป่วยด้วยโรคโปลิโอ เป็นเวลากว่า 40 ปี | พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จทรงเป็นประธานเปิดงาน "มหิดล-วันแม่" ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดล จัดขึ้นเป็นปีที่ 24 แล้ว เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2552 งานวันแม่ของมหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากจะเป็นในแง่วิชาการแล้ว ยังมีการมอบรางวัลให้กับ "แม่สู้ชีวิต" "แม่ 100 ปี" และ "แม่ดีเด่น"
เพราะแม่เหล่านี้คือผู้หญิงที่ได้อุทิศชีวิตต่อสู้เพื่อลูกตลอดมา โดยเฉพาะรางวัล "แม่สู้ชีวิต" นั้น แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ แม่สู้ชีวิตประเภทแม่ของลูกปกติ และ แม่สู้ชีวิตประเภทแม่ของลูกพิการ ที่คัดเลือกจากแม่สู้ชีวิต 90 รายทั่วประเทศ เริ่มต้นกันด้วย "รางวัลแม่สู้ชีวิต ประเภทแม่ของลูกปกติ" ผู้ได้รับรางวัลจากภาคกลาง คือ แม่กรกต ตั้งรัตนาพิบูล กรุงเทพมหานคร เป็นแม่ของ ด.ญ.ภาวิณี ตั้งรัตนาพิบูล ซึ่งแม่กรกตเป็นอัมพฤกษ์มาตั้งแต่ลูกอายุได้ 6 วัน แต่ก็อดทนหาเลี้ยงลูก รวมทั้งดูแลแม่และพ่อที่ป่วยเป็นไตวายด้วย ปัจจุบันแม่กรกตมีอาชีพทำซาลาเปาขายด้วยมือข้างเดียว เรื่องราวของ "แม่กรกต" เล่าผ่านลูกสาว ด.ญ.ภาวิณี ว่า ปัจจุบันแม่อายุ 48 ปีแล้ว แต่ก่อนที่พ่อของเธอยังมีชีวิตอยู่แม่ต้องดูแลพ่อด้วย ซึ่งพ่อมีปัญหาเรื่องติดเหล้า เงินที่ได้มาจากการขายของในแต่ละวันจึงไม่เคยถึงมือแม่ เวลานี้พ่อเสียชีวิตไปแล้ว รวมทั้งตาและยายด้วย แต่ถึงอย่างนั้นแม่ก็ยังต้องทำงานหนักเพื่อหาเงินให้เธอได้เรียนหนังสือ และมีชีวิตอยู่อย่างสบาย "เวลานี้แม่ของหนูทำซาลาเปาขายด้วยมือข้างเดียว วันไหนขายดีก็ได้กินทั้งสองคน แต่ถ้าวันไหนขายไม่ดีขายไม่ได้ แม่ก็จะเสียสละให้หนูกิน ส่วนแม่จะอด เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ตาและยายยังมีชีวิตอยู่แล้ว หนูสงสารแม่มาก แม่ไม่สบายก็ต้องแข็งใจไปขายของเพราะกลัวหนูอด หนูอยากให้แม่หายจากอัมพฤกษ์แต่หมอบอกว่าไม่มีทางหายแล้ว หนูเห็นแม่ร้องไห้บ่อยๆ เพราะเจ็บมือข้างดีที่ยังเหลืออยู่เพราะต้องใช้มือนั้นทำงานตลอด หนูสงสารแม่มาก แม่สู้ชีวิตมากๆ หนูไม่เคยเห็นแม่ท้อหรือเบื่อเลย.." เด็กหญิงเล่าและตบท้ายว่า "ถ้าเป็นหนู หนูไม่รู้ว่าจะทำแบบแม่ได้หรือเปล่า"  แม่สุภาพร เจ็งสุขสวัสดิ์ แม่ของลูกชายที่ป่วยเป็นโรคผิวหนังร้ายแรงและมะเร็งที่ขา |
ต่อมาเป็นแม่จากภาคเหนือที่ได้รับรางวัลอีกคน แม่เฮือน หมื่นจำปา จังหวัดลำพูน แต่คนละแวกบ้านแม่เฮือนเรียกเธอว่า "น้ำอ้อย" เป็นฉายาที่ตั้งให้ใหม่ เพราะแม่เฮือนพูดเพราะกับทุกคน และไม่เคยดุด่าว่าลูกเลยแม้แต่น้อย ถึงแม้จะเหนื่อยหนักหนากับภาระการเลี้ยงลูกถึง 12 คน แต่เพราะ "หยาดเหงื่อทุกหยาดของแม่ ...คือความสำเร็จของลูกในวันนี้" เธอจึงไม่เคยปริปากกับความทุกข์ยากที่ผ่านมาตลอดชีวิต
ส่วนแม่จากภาคใต้ ผู้ที่ได้รางวัลเป็นแม่อายุ 80 ปีแล้ว บ้านอยู่ จ.นราธิวาส แต่น่าเสียดายที่ไม่อาจเปิดเผยชื่อของเธอได้ เนื่องจากความปลอดภัยในชีวิตประจำวันในขณะนี้ เธอผู้นี้เป็นผู้หญิงที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อลูกๆ ทั้ง 7 คน ที่ต้องดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางความไม่ปลอดภัยของสถานการณ์ภาคใต้ ลูกสาวคนหนึ่งของเธอเล่าให้ฟังว่า แม่ของเธอต้องออกจากบ้านไปกรีดยางทุกวัน ถ้าวันไหนฝนตกก็ไปกรีดยางไม่ได้ แม่ทำงานหนักเพื่อหาเงินส่งลูกๆ เรียนหนังสือและหาทางให้ลูกๆ อยู่ดีกินดี แม้ว่าหนึ่งในจำนวนลูกทั้งเจ็ดคนจะมีลูกเกเรไม่ได้อย่างใจ แต่แม่ก็ไม่เคยปริปากบ่น ซ้ำยังพูดว่าความเป็นแม่ไม่ว่าลูกเป็นอย่างไรก็ต้องดูแลเขา.. "มีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นกับครอบครัวของดิฉัน เป็นเหตุการณ์ร้ายแรงจนทำให้ลูกของแม่อยู่กันไม่ครบ 7 คน เมื่อพวกเราบอกให้แม่ย้ายบ้านออกจากที่เคยอยู่เพื่อความปลอดภัย แต่แม่ไม่ยอม แม่บอกว่าเราต้องช่วยกันปกป้องบ้านของเรา ถ้าเราไม่ทำแล้วเราจะเหลืออะไร ฟังคำแม่พูดแล้วดิฉันถึงกับน้ำตาไหลพูดอะไรไม่ออก แม่ของดิฉันยอมกลับไปอยู่ที่เดิม ยอมแม้กระทั่งจะเสียชีวิตเพราะไม่ต้องการให้ลูกคนหนึ่งคนใดได้รับความเดือดร้อน" ลูกสาวของคุณแม่จากภาคใต้ผู้นี้ขอให้ไม่เปิดเผยรายละเอียดที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของเธอ เพื่อความปลอดภัยของชีวิตแม่ของเธอ  แม่ไพฑูรย์ สุทธิวุฒิ ต้องเฝ้าเลี้ยงดูลูกสาวคนเล็กที่พิการเพราะความผิดปกติของโครโมโซมตลอดระยะเวลา 22 ปี | รางวัลแม่สู้ชีวิตอีกประเภท คือแม่สู้ชีวิต ประเภทแม่ของลูกพิการ มีผู้ได้รับรางวัล ดังนี้
ภาคกลาง จากกรุงเทพมหานคร มีผู้ได้รับรางวัล 3 คน ได้แก่ แม่สุวรรณี กิจธิคุณ ซึ่งได้ใช้ความอดทน มองการณ์ไกลและคิดเชิงบวกพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อทำให้ลูกสาวซึ่งสูญเสียการได้ยินตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ได้เข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติทั่วไป จนวันนี้ทำให้ ดร.ประกาย กิจธิคุณ เรียนจบปริญญาเอก ทำงานช่วยเหลือสังคม แม่สุวรรณีมีความคิดไม่เหมือนกับพ่อแม่ของ "เด็กพิเศษ" เมื่อ 40 ปีก่อน ที่มักจะสงสารและกลัวลูกลำบากจึงไม่ให้ลูกเรียนแต่ให้อยู่กับบ้านเพราะกลัวอันตรายจากการเดินทาง และมักคิดว่าเด็กจะมีปมด้อยหากเรียนร่วมกับเด็กปกติ แต่คุณแม่สุวรรณีกลับทำตรงกันข้าม ส่งเสริมให้ลูกไปโรงเรียนและยังอดทนฟื้นฟูให้ลูกที่พิการหูหนวกหัดอ่านริมฝีปาก เพื่อจะได้เข้าใจวิชาที่ครูสอน และยังพาไปหาหมอเพื่อให้ช่วยจัดทำเครื่องช่วยฟังที่เหมาะกับสภาพการได้ยินของลูก และยังไปพบครูผู้สอนเพื่อร่วมมือทางด้านการเรียนจนลูกสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ และเรียนจนจบปริญญาเอก "แม่มีความอดทนและพยายามฝึกให้อ่านริมฝีปาก คำไหนยากแม้จะต้องพูดเป็นร้อยๆ ครั้ง แม่ก็ไม่ท้อ จนดิฉันอ่านปากได้ถูกต้อง และยังปลูกฝังนิสัยขยันหาความรู้อย่างไม่หยุดนิ่งให้ดิฉัน ความคิดของคนที่เป็นพ่อแม่ที่มีต่อลูกนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก หากพ่อแม่ยอมรับลูกที่พิการ เชื่อมั่นว่าลูกทำได้และสนับสนุนอย่างเต็มที่ เด็กที่พิการหรือบกพร่องก็สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้ไม่ยาก..." ดร.ประกาย กิจธิคุณ ลูกสาวของคุณแม่ สุวรรณี กล่าวอย่างภาคภูมิใจ
ต่อมาคือ แม่เสงี่ยม เหลาทอง ฐานะยากจนมีภาระที่ต้องเลี้ยงดูลูกที่พิการทางสมองและสามีที่ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่ยังอดทนทำงานหนัก ค้าขาย รับจ้างนวดแผนโบราณพอมีรายได้เพียงน้อยนิดเลี้ยงครอบครัว แม่เสงี่ยมบอกว่า ขอบคุณมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ทำเรื่องแม่สู้ชีวิต ซึ่งทำให้ตนได้มีโอกาสระบายความทุกข์ของครอบครัวบ้าง
ตามด้วย แม่สุภาพร เจ็งสุขสวัสดิ์ แม่ของลูกชายที่ป่วยเป็นโรคผิวหนังร้ายแรงและมะเร็งที่ขา ทุกครั้งที่ลูกร้องด้วยความเจ็บปวดระหว่างที่แม่อาบน้ำและชำระแผลให้ลูก แม่สุภาพรบอกว่าแม่เจ็บปวดยิ่งกว่า เพราะ 22 ปีที่ทุ่มเทชีวิตทั้งชีวิต ก็เพื่อให้ลูกยังมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข สำหรับภาคเหนือ มีแม่ที่ได้รับรางวัล 2 คน ได้แก่ แม่จันทร์เพ็ญ ตื้อกาศ จาก จ.ลำพูน เป็นแม่ของลูกชายพิการทางสายตาและสมอง แต่ด้วยความอดทนและความพยายามของเธอทำให้วันนี้ลูกสามารถช่วยตัวเองได้ ช่วยเลี้ยงวัว ทำสวน มีสุขภาพจิตดี เธอจึงมีความสุขตามอัตภาพ อีกคนคือ แม่ไพฑูรย์ สิทธิวุฒิ จาก จ.น่าน ต้องเฝ้าเลี้ยงดูลูกสาวคนเล็กที่พิการเพราะความผิดปกติทางโครโมโซมตลอดระยะเวลา 22 ปี แต่ไม่เคยท้อจนสามารถฝึกหัดให้ลูกเดินได้ ช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง และยังผลักดันจนลูกได้เรียนร่วมกับเด็กปกติ จากภาคอีสาน แม่เพ็ญ ปรีชากุล จ.บุรีรัมย์ แม่ของลูกชายพิการ 3 คนที่ป่วยด้วยโรคโปลิโอ เป็นเวลากว่า 40 ปีแล้วที่แม่เพ็ญต้องอุ้มลูกอาบน้ำ ป้อนข้าว ดูแลการขับถ่าย แม้จะอายุกว่า 70 ปีแล้วแต่หน้าที่ของความเป็นแม่ไม่มีวันเกษียณ จนแม้แต่วันนี้เธอยังทำหน้าที่ที่แสนเหนื่อยยากนี้ต่อไป ห่วงแต่ว่าเมื่อสิ้นแม่แล้ว ลูกๆ ของเธอจะอยู่ได้อย่างไร ภาคใต้ แม่ที่ได้รับรางวัล ได้แก่ แม่อามีเนาะ อาแด จังหวัดปัตตานี แม่ของลูกสาวพิการทางสมอง เพราะแม่มีอาชีพครูผู้ดูแลเด็ก ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ลูกจึงได้รับการดูแลอย่างดี ทุกคนในครอบครัวต่างทุ่มเทให้ลูกสาวพิการ เพื่อมีอนาคตที่สดใสในวันข้างหน้า บทบาทอันยิ่งใหญ่ของคนเป็นแม่ ที่นอกจากการเป็นผู้ให้กำเนิดแล้ว "แม่" ยังต้องอดทนต่อสู้กับความยากลำบากและอุปสรรคมากมาย เพื่อให้ลูกเติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีความสุขในชีวิต และสำคัญยิ่งคือ เป็นคนดี เป็นหน้าที่ของคนเป็นแม่ที่สู้เพื่อลูก ..ไม่ว่าลูกจะพิการหรืออยู่ในสภาพใด หัวใจของคนเป็นแม่ไม่เคยท้อ
หน้า 20 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น