รายงานโดย :ปวีณา สิงห์บูรณา: | วันศุกร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2552 |
ถ้า "ความสุข" คือเป้าหมายสูงสุดในชีวิตมนุษย์แต่ละคน ดังนั้นการพัฒนาประเทศซึ่งเน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลางอยู่แล้ว จึงควรจะพัฒนาเพื่อนำไปสู่การบรรลุความพึงพอใจของมนุษย์ทั้งทางร่างกายและ จิตใจเป็นหลัก...

ถ้าพูดถึงคำว่า GNH ดูเหมือนว่าทุกวันนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนไทยแล้ว โดยเฉพาะใครที่ติดตามข่าวสารความเป็นไปของโลก ยิ่งต้องคุ้นหูกับคำคำนี้ และหากใครที่สนใจศึกษาข้อมูลของประเทศภูฏาน คงจะเคยได้ยินมาว่า ภูฏานเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่ใช้ดัชนีชี้วัดการพัฒนาประเทศ โดยยึดถือเอาค่าความสุขของประชาชนเป็นเกณฑ์ แทนที่จะใช้มูลค่าทางการค้าเหมือนประเทศอื่นๆ
GNH หรือ Gross National Happiness เกิดขึ้นในสมัยของพระราชาธิบดีที่ 4 แห่งภูฏาน (พระราชบิดาของกษัตริย์ จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก พระราชาธิบดีที่ 5 กษัตริย์องค์ปัจจุบันของราชอาณาจักรภูฏาน) ด้วยทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกล จึงทรงเล็งเห็นว่าหลายๆ ประเทศที่มุ่งเน้นพัฒนาด้านเศรษฐกิจโดยลืมคำนึงถึงต้นทุนที่ต้องแลกไป สุดท้ายก็ต้องประสบกับปัญหาหลายๆ ด้าน ทั้งเรื่องความเสื่อมโทรมของทรัพยากร ผลกระทบทางด้านวัฒนธรรม หรือความตกต่ำทางสังคม ดังนั้นพระราชาธิบดีที่ 4 จึงทรงประกาศนโยบายในการพัฒนาประเทศ โดยยึดเอาหลักทฤษฎีความสุขมวลรวมประชาชาติเป็นเกณฑ์
ความสุขมวลรวมประชาชาติคืออะไร?...ความสุขมวลรวมประชาชาติเป็นแนวความคิด ในทางเศรษฐศาสตร์มหภาค ซึ่งตั้งอยู่บนฐานคิดของพุทธศาสนา และหลักความจริงในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ โดยทฤษฎีนี้มีหลักใหญ่อยู่ 4 ประการด้วยกัน
ประการแรก คือ การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืนและเสมอภาค เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจโดยนำเอาปัจจัยทางด้านสังคม วัฒนธรรม และปัจจัยทางด้านจิตใจในส่วนลึกของประชาชนเข้ามาพิจารณาประกอบด้วย เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างยั่งยืนและเสมอภาค บนพื้นฐานของสังคมที่เคารพประชาชนและวัฒนธรรมของตนเองเป็นหลัก เมื่อใดก็ตามที่การพัฒนาเศรษฐกิจนั้นทำให้คนรวยรวยขึ้นเฉพาะกลุ่ม หรือถ้าการพัฒนาเศรษฐกิจนั้นเพื่อมุ่งประโยชน์ของคนรุ่นปัจจุบันเป็นหลัก โดยมิได้คำนึงถึงอนาคตระยะยาวของคนในรุ่นต่อๆ ไป การพัฒนานั้นไม่สอดคล้องกับหลัก "ความสุขมวลรวมประชาชาติ"

ประการที่สอง คือ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นการพัฒนาที่ต้องไม่เป็นการทำลายความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ จะต้องมีการบำรุงและปกป้องให้คงสภาพความสมบูรณ์เพื่อรุ่นลูกหลานต่อไปใน อนาคต
ประการที่สาม คือ การรักษาและส่งเสริมวัฒนธรรม ถือเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งในยุคปัจจุบัน เพราะคุณค่าของมนุษย์กำลังถูกกัดกร่อนจากความโลภ ทำให้เราพบเห็นความเมตตากรุณา ความมีน้ำใจน้อยลง...สัมผัสความอ่อนโยน ความเสียสละ ความอ่อนน้อมถ่อมตนได้น้อยลงเช่นกัน รวมถึงการรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเองก็ลดน้อยถอยลงไปด้วยทุกที ทั้งที่จริงแล้วคุณค่าดังกล่าวของมนุษย์ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้ สังคมมีความหมาย และน่าอยู่ยิ่งขึ้น
ประการที่สี่ คือ การส่งเสริมการปกครองที่ดี หรือ "ธรรมาภิบาล" เป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด โดยทั้งระบบการปกครองและผู้ทำหน้าที่ควรต้องเป็นไปในทิศทางที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม สุจริต เพื่อนำพาสังคมไปสู่ "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" อย่างแท้จริง
อันที่จริงแล้วเคยมีคนตั้งข้อสงสัยกันขึ้นมาว่า ถ้าจะดำเนินแนวทางเพื่อให้ประชาชนไปถึงสิ่งที่เรียกว่า ความสุข นั้น สิ่งที่ยังเป็นคำถามต่อมาคือ ความสุข ในความหมายของแต่ละคนคืออะไร ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องแตกต่างกันออกไป แล้วความสุขน่ะวัดกันได้จริงหรือ???

แนวคิดของ GNH อาจจะไม่ได้มีความเหมาะสมกับระบบเศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศ แต่หัวใจของ GNH สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้กับทุกสังคม ตราบเท่าที่เป้าหมายในชีวิตของมนุษย์ยังคงเป็น "ความสุข" โดยการยึดถือหลัก GNH นั้นไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ หรือปลูกข้าวไว้กินเองเท่านั้น และก็ไม่ได้หมายถึงว่าแนวคิดนี้ห้ามไม่ให้มีคนรวยด้วย เพียงแต่ว่าความร่ำรวยที่เกิดขึ้นต้องได้มาอย่างถูกต้องชอบธรรม ด้วยการประกอบสัมมาอาชีพ และถึงแม้จะไม่ได้ร่ำรวยเงินทอง แต่ก็สามารถใช้ชีวิตอย่างไม่เป็นทุกข์ และมีความสุขใจกับตนเอง กับครอบครัว ธรรมชาติ และสังคม นั่นอาจจะเป็นความสุขที่ยิ่งกว่าการมีเงินทองมากมายเสียด้วยซ้ำไป

ไม่มีอะไรเป็นข้อสรุปตายตัวว่า แนวคิดแบบ GNH จะเป็นแนวคิดที่ดีที่สุด บางทีแนวคิดแบบนี้อาจเหมาะสมกับประเทศที่มีโครงสร้างคล้ายกับภูฏานเท่านั้น หรือบางทีประเทศที่พัฒนาทางเศรษฐกิจไปจนถึงจุดสูงสุดแล้ว อาจจะถึงเวลาที่ต้องนำเอาระบบความคิดแบบนี้เข้าไปปรับประยุกต์ใช้บ้างก็เป็น ได้
ย้อนกลับมาในบ้านเรา ก็ต้องยอมรับกันตามตรงว่า ไทยเราก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มุ่งเน้นพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจตามแนวทางตะวัน ตกมานานพอสมควรแล้ว แม้ว่าจะยังไม่ได้พัฒนาไปถึงจุดสูงสุดก็ตามที แต่ก็เรียกได้ว่าเดินหน้ามาจากอดีตมากทีเดียว แล้ววันนี้เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยบ้าง การพัฒนาในรูปแบบที่ปฏิบัติกันมาตลอด ส่งผลให้คนไทยมีความสุขกันถ้วนหน้าหรือไม่? ความร่ำรวยมั่งคั่งยังคงกระจุกตัวอยู่กับคนเฉพาะกลุ่มหรือไม่? ทรัพยากรธรรมชาติ สภาพสังคม จิตใจคนเสื่อมโทรมลงไปบ้างหรือเปล่า? ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เราไม่กล้าค้านอย่างเต็มปากเต็มคำว่า "ไม่" นั่นอาจจะถึงเวลาที่เราต้องทบทวนความหมายของคำว่า "ความสุข" ของตัวเราแล้วล่ะ

อันที่จริงแล้วหากเรายึดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต ความทุกข์ร้อนต่างๆ เหล่านั้นอาจลดน้อยลงไป และเราจะใช้เวลาส่วนที่เหลือในชีวิตเติมเต็มสิ่งที่เรียกว่า "ความสุข" ให้กับตนเองและคนที่รักได้มากยิ่งขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง หรือทฤษฎีความสุขมวลรวมประชาชาติ ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ดูจะทันกับยุคสมัยและสังคมไทยในตอนนี้ และก็อย่างที่บอกไปแล้วว่า ทฤษฎีนี้ไม่ห้ามมีคนรวย ไม่ได้สอนให้คนไปทำแต่อาชีพเกษตรกรรมเท่านั้น ดังนั้นไม่ว่าปัจจุบันคุณจะประกอบอาชีพอะไร ก็สามารถนำทฤษฎีดังกล่าวไปปรับประยุกต์ได้ทั้งนั้น
http://www.posttoday.com/travel.php?id=28146
Windows Live™: Keep your life in sync. Check it out!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น