ข่าวสาร ข้อมูล ทุกด้านต้องรับฟัง ไม่เชื่อสิ่งที่เห็น ฟังข่าวสารเพียงฝ่ายเดียว ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew ● ปรึกษาปัญหากฏหมาย ละเมิด,สัญญา,อายัดทรัพย์ ยึดทรัพย์ ปัญหาติดต่อราชการ ฟรี ● พิมพ์รายงาน,ค้นหาข้อมูล, ● งานพิมพ์ Lay-Out,Art Work สำนักพิมพ์ดาวหาง www.sanamluang.bloggang.com สนใจติดต่อสอบถาม workingmailhome@hotmail.com

"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

ฉันไม่ชอบกฎหมาย
Blognone
Bookmark and Share

วันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2552

ภัควดี: การประนีประนอมระหว่างสี: ตัวอย่างแนวทาง “อารยะ” จากโบลิเวีย

ภัควดี: การประนีประนอมระหว่างสี: ตัวอย่างแนวทาง "อารยะ" จากโบลิเวีย 

ภัควดี รายงาน

 

 

หลังจากทีมฟุตบอลโบลิเวียเอาชนะอาร์เจนตินาภายใต้การคุมทีมของดีเอโก มาราโดนาไปอย่างถล่มทลายถึง 6 ประตูต่อ 1 มาราโดนาบอกผู้สื่อข่าวว่า "ทุกประตูที่โบลิเวียยิงเหมือนมีดทิ่มแทงหัวใจผม" แทบไม่มีใครเคยคิดว่า โบลิเวียจะล้มยักษ์อย่างอาร์เจนตินาลงได้ เท่า ๆ กับที่ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน ไม่เคยมีใครคิดว่า เกษตรกรชาวพื้นเมืองอย่างเอโว โมราเลส จะก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของโบลิเวีย

 

ไม่นานมานี้เอง นอม ชอมสกีเพิ่งยกย่องโบลิเวียว่า "น่าจะเป็นประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในโลก" เพราะ "องค์กรรากหญ้าขนาดใหญ่ของประชากรที่เคยถูกกดขี่มากที่สุดในซีกโลกนี้ [ได้] ก้าวเข้ามามีบทบาทบนเวทีการเมือง [และ] สามารถเลือกประธานาธิบดีที่เป็นคนของพวกเขาเองอย่างแท้จริง"

ชอมสกียังบอกด้วยว่า เอโว โมราเลสคือสัญลักษณ์ที่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า "ระบอบประชาธิปไตยควรเป็นอย่างไร" รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของโบลิเวียเพิ่งผ่านการรับรองประชามติมาด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นถึง 61% และถ้าเรายังไม่ลืม รัฐธรรมนูญฉบับนี้สร้างความแตกแยกให้สังคมโบลิเวียจนเกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแบ่งสี ถึงขั้นที่ชนชั้นสูงขู่จะ "แบ่งแยกดินแดน" ออกไป (โปรดดูบทความ "ภัควดี: รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน: โบลิเวียได้ไปแล้ว ชาวสยามหน้าหมองโปรดรอไปก่อน", 31 ม.ค. 52)

 

ความตึงเครียดในประเทศคุกรุ่นขึ้นอีกครั้ง เมื่อฝ่ายค้านตั้งป้อมสกัดกฎหมายเลือกตั้งชั่วคราว ซึ่งเป็นกฎหมายลูกที่จะมอบอำนาจให้ประธานาธิบดีและสมัชชานิติบัญญัติแห่งชาติจัดการเลือกตั้งในวันที่ 6 ธันวาคมปีนี้

 

รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า กฎหมายลูกฉบับนี้ต้องผ่านสภาออกมาภายใน 60 วัน หากผ่านกฎหมายออกมาไม่ได้ ก็จะไม่มีการเลือกตั้งและความพยายามทั้งหมดของโมราเลสย่อมสูญเปล่า ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพรรค Movement Toward Socialism (MAS) ของโมราเลสครองเสียงข้างมากนั้น กฎหมายเลือกตั้งฉบับนี้ผ่านออกมาได้อย่างรวดเร็ว แต่ในวุฒิสภา ซึ่งฝ่ายค้านครองเสียงข้างมากมากกว่านิดหน่อย พวกเขาทำทุกวิถีทางเพื่อล้มร่างกฎหมายฉบับนี้ แม้กระทั่งแกล้งหนีกลับบ้านเพื่อให้สภาไม่ครบองค์ประชุม จนดูเหมือนฝ่ายค้านที่ล้วนเป็นชนชั้นนำผิวขาวนักธุรกิจและเจ้าที่ดิน เริ่มถือไพ่เหนือกว่าประธานาธิบดีโมราเลส

นี่คือสถานการณ์ที่จะพิสูจน์ว่า คำยกย่องของชอมสกีเป็นความจริงหรือไม่? โมราเลสและพรรค MAS จะแก้ไขปัญหาอย่างไร?

 

 

ประธานาธิบดีอดอาหารประท้วง

ในวันที่ 9 เมษายน 2009 เมื่อวุฒิสมาชิกฝ่ายค้านป่วนจนสภาล่ม ประธานาธิบดีโมราเลสก็เริ่มต้นประท้วงด้วยการอดอาหารเป็นเวลา 5 วัน นอกจากประธานาธิบดีแล้ว ยังมีชาวโบลิเวียอีกเกือบ 3,000 คน ทั้งในและนอกประเทศ ร่วมอดอาหารประท้วงด้วย ในจำนวนนี้มีทั้งผู้นำแรงงาน ตัวแทนจากขบวนการสังคม นักเคลื่อนไหวทางสังคม รวมทั้งชาวโบลิเวียที่อาศัยอยู่ในสเปนและอาร์เจนตินา

 

ระหว่างการอดอาหารประท้วง ประธานาธิบดีโมราเลสนอนบนเสื่อปูพื้นในทำเนียบประธานาธิบดีและเคี้ยวใบโคคาเพื่อต่อสู้กับความหิว (โปรดดูรูป) เขาบอกว่านี่เป็นการอดอาหารประท้วงครั้งที่ 18 ในชีวิตการต่อสู้ทางการเมืองก่อนก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศ ก่อนหน้านี้ โมราเลสเป็นเกษตรกรปลูกใบโคคา เป็นนักจัดตั้งสหภาพและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขาเล่าว่า เขาเคยอดอาหารประท้วงนานที่สุดถึง 18 วันตอนที่ติดคุกการเมืองในโบลิเวีย

 

นอกจากการอดอาหารประท้วงของคนจำนวนมากแล้ว ยังมีเกษตรกรและชาวพื้นเมืองอีกหลายพันคนใช้วิธีเดินขบวนประท้วงตามท้องถนนและล้อมรอบสมัชชานิติบัญญัติแห่งชาติ ในขณะที่รองประธานาธิบดีอัลวาโร การ์เซีย ลิเนรา ต่อสู้อยู่ในสภาเพื่อให้กระบวนการออกกฎหมายเดินหน้า

 

ในที่สุด วุฒิสมาชิกฝ่ายค้านก็ยอมกลับเข้าสภา มีการประนีประนอมระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน และกฎหมายเลือกตั้งก็คลอดออกมาจนได้เมื่อวันที่ 14 เมษายน

 

แน่นอน นี่ถือเป็นชัยชนะ "อย่างสันติวิธี" อีกครั้งของประชาชนรากหญ้าชาวโบลิเวีย แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการประนีประนอมกับฝ่ายค้าน "สีชมพู" ต่างฝ่ายต่างได้อะไรบางอย่างและต่างสูญเสียอะไรบางอย่าง เพราะดังที่รองผู้บัญชาการมาร์กอสแห่งขบวนการซาปาติสตาเคยให้สัมภาษณ์กับการ์เบรียล การ์เซีย มาร์เกซว่า:

 

"หากจะให้การเจรจาต่อรองบรรลุผลสำเร็จ ทั้งสองฝ่ายต้องเริ่มต้นจากสมมติฐานว่า ไม่มีทางเอาชนะคู่ต่อสู้ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องจับมือกันหาทางออกสักทางที่หมายถึงชัยชนะสำหรับทั้งสองฝ่าย หรือในกรณีที่แย่ที่สุดคือพ่ายแพ้ทั้งสองฝ่าย แต่อย่างน้อย นั่นก็ทำให้การปะทะกันด้วยกำลังสิ้นสุดลง"

 

นี่ต่างหากคือความหมายที่แท้จริงของ "สันติวิธี" และ "อหิงสา" ซึ่งสรุปสั้น ๆ ได้ว่า เราจะไม่เล่นเกม zero-sum game (เกมที่ฝ่ายชนะกินรวบ)!

 

 

สิ่งที่ได้และสูญเสีย

สิ่งที่รัฐบาลโมราเลสจำต้องยอมประนีประนอมก็คือ วิธีการลงทะเบียนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ฝ่ายค้านยืนกรานให้รัฐบาลใช้ "เครื่องตรวจชีวมิติ" (biometric markers—หมายถึงเครื่องตรวจดีเอ็นเอ ลายนิ้วมือ หรืออะไรก็ตามแต่ทางกายภาพ เพื่อระบุว่าคน ๆ นั้นคือคนในบัตรประชาชนจริง ๆ) เพื่อไม่ให้มีการโกงการเลือกตั้ง รัฐบาลโต้แย้งมาตลอดว่า การซื้อเครื่องที่ว่านี้ต้องใช้เงินถึง 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกทั้งอาจยังมีเวลาไม่พอในการติดตั้งและนำมาใช้ แต่สุดท้าย รัฐบาลก็ประนีประนอมด้วยการยอมทำการสำรวจสำมะโนประชากรใหม่ และเพื่อหาเงินมาซื้อเจ้าเครื่องนี้ โมราเลสจึงยกเลิกแผนการซื้อเครื่องบินประจำตำแหน่งประธานาธิบดีลำใหม่ และเดินทางไปนอกประเทศด้วยเครื่องบินอายุ 30 ปีเครื่องเดิม ส่วนสิ่งที่รัฐบาลยืนกรานและฝ่ายค้านต้องยอมโอนอ่อนตามก็คือ ประธานกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ นายฆอร์เก ลูอิซ เอ็กเซนี ไม่ต้องลาออกตามเสียงเรียกร้องของฝ่ายค้าน เขาจะยังทำหน้าที่ดูแลการเลือกตั้งและรับผิดชอบโครงการลงทะเบียนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงต่อไป

 

ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ชุมชนชาวพื้นเมืองจะได้รับการจัดสรรเก้าอี้ในสภาคองเกรสจำนวนหนึ่ง (โดยผ่านการเลือกตั้งจากในชุมชนเอง) ซึ่งไม่ได้ระบุจำนวนที่แน่ชัดไว้ รัฐบาลเสนอให้มี 14 ที่นั่ง ส่วนฝ่ายค้านบอกว่าให้แค่ 3 ที่นั่ง ผลจากการประนีประนอมทำให้ชุมชนชาวพื้นเมืองจะมีตัวแทนในสภาได้ 7 ที่นั่ง

รัฐบาลวางแผนว่าจะอนุญาตให้ชาวโบลิเวียที่อาศัยในต่างประเทศมีสิทธิลงคะแนนเสียง การประนีประนอมทำให้ชาวโบลิเวียในต่างประเทศจะมีสิทธิเพียงแค่ 240,000 คน ซึ่งเป็นเพียง 6% จากจำนวนทั้งหมดที่รัฐบาลตั้งไว้ นอกจากนี้ ก็มีการประนีประนอมเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเจ้าหน้าที่การปกครองท้องถิ่น

 

 

ดอกไม้และก้อนอิฐ

แน่นอน ในการประนีประนอมครั้งนี้ ย่อมมีทั้งคนพอใจและไม่พอใจ ประธานสหพันธ์ชาวพื้นเมืองภาคตะวันออกของโบลิเวีย นายอะโดลโฟ ชาเวซ วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนว่า นี่เป็น "การทรยศต่อขบวนการชาวพื้นเมืองในประเทศ" โดยมุ่งเป้าไปที่ประเด็นการจัดสรรที่นั่งให้ชาวพื้นเมืองในสภาคองเกรส

 

ในขณะที่อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญละตินอเมริกาแห่งมหาวิทยาลัยเซนต์แมรีในแมรีแลนด์ นายมิเกวล เซนเตญาส กล่าวว่า "โมราเลสกำลังดำเนินตามกระบวนการประชาธิปไตยที่มีนิยามแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง [เขาไม่ได้ทำ] ตามแบบนักลัทธิเสียงข้างมากที่ชอบอ้างว่า 'ฉันมีคะแนนเสียงกว่า 50% หนุนหลัง ดังนั้น ฉันต้องได้ทุกอย่างที่ฉันต้องการ'"

 

บนเส้นทางของการเมืองที่ตั้งมั่นอยู่บนกระบวนการประชาธิปไตยอย่างสันติวิธี ความขัดแย้งควรบรรลุด้วยโต๊ะเจรจา แต่ดังที่เอลซุปบอกไว้ (ขออ้างอีกที) ว่า "สิ่งที่โต๊ะ [เจรจา] ตัวนั้นต้องบรรลุให้ได้ก็คือ มันต้องทำให้เราลุกขึ้นมาอย่างมีศักดิ์ศรี"

 

เพียงแต่ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเรา ก็อย่างที่เอลซุปบอก (ขออ้างอีกครั้ง) นั่นคือ: "ไม่เพียงแต่เราต้องสร้างโต๊ะขึ้นมา แต่เรายังต้องสร้างคู่สนทนาขึ้นมาด้วย"!

 

 

เรียบเรียงจาก:

Benjamin Dangl, "Latin America Changes: Hunger Strikes in Bolivia, Summits in the Caribbean," http://upsidedownworld.org/main/content/view/1814/1/; Thursday, 16 April 2009.

Jonathan J. Levin, "Morales Wins Bolivia Election Law With Hunger Strike," http://www.bloomberg.com/apps/news?pid=20601087&sid=a.yMGIqHCnwY&refer=home; April 14, 2009.

W. T. Whitney Jr., "What Bolivian democracy looks like," People's Weekly World Newspaper, http://www.pww.org/article/articleview/15335/; 04/23/09.




http://www.prachatai.com/05web/th/home/16638

โดย : ประชาไท   วันที่ : 28/4/2552


Rediscover Hotmail®: Get quick friend updates right in your inbox. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รายการบล็อกของฉัน

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ข่าวสาร ข้อมูล ทุกด้านต้องรับฟัง ไม่เชื่อสิ่งที่เห็น ฟังข่าวสารเพียงฝ่ายเดียว ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew ● ปรึกษาปัญหากฏหมาย ละเมิด,สัญญา,อายัดทรัพย์ ยึดทรัพย์ ปัญหาติดต่อราชการ ฟรี ● พิมพ์รายงาน,ค้นหาข้อมูล, ● งานพิมพ์ Lay-Out,Art Work สำนักพิมพ์ดาวหาง www.sanamluang.bloggang.com สนใจติดต่อสอบถาม workingmailhome@hotmail.com