ข่าวสาร ข้อมูล ทุกด้านต้องรับฟัง ไม่เชื่อสิ่งที่เห็น ฟังข่าวสารเพียงฝ่ายเดียว ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew ● ปรึกษาปัญหากฏหมาย ละเมิด,สัญญา,อายัดทรัพย์ ยึดทรัพย์ ปัญหาติดต่อราชการ ฟรี ● พิมพ์รายงาน,ค้นหาข้อมูล, ● งานพิมพ์ Lay-Out,Art Work สำนักพิมพ์ดาวหาง www.sanamluang.bloggang.com สนใจติดต่อสอบถาม workingmailhome@hotmail.com

"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

ฉันไม่ชอบกฎหมาย
Blognone
Bookmark and Share

วันอังคารที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2552

"ไม่สิ้นคม" แม้สิ้นลมหายใจ "รงค์ วงษ์สวรรค์" จอมกระบี่ "กรีดนักกินเมือง



 

"ไม่สิ้นคม" แม้สิ้นลมหายใจ "รงค์ วงษ์สวรรค์" จอมกระบี่ "กรีดนักกินเมือง
“เขาก็บอกว่าอาจจะมีชีวิตอยู่ไปได้อีกระยะหนึ่ง ซึ่งระยะสั้นหรือยาวแค่ไหนเขาก็ไม่สามารถระบุได้ คือความตายตอนนี้มันมารออยู่หน้าประตู (พูดพลางชำเลืองมองไปที่ประตู) นั่นแหละ...มันจะก้าวเข้ามาเมื่อไหร่ ?” ...เป็นส่วนหนึ่งจากคำกล่าวที่กล่าวไว้กับ “เดลินิวส์” เมื่อเกือบ 8 ปีก่อน ของนักเขียนชื่อก้อง เจ้าของสมญา “พญาอินทรีแห่งสวนอักษร” นามปากกา ’รงค์ วงษ์สวรรค์ แล้วเมื่อเย็นวันที่ 15 มี.ค. 2552 ที่ผ่านมา ความตายก็ก้าวเข้าประตูและดูดกลืนลมหายใจแห่งอักษรศิลป์ของนักเขียนอาวุโสท่านนี้ไป...

เหลือไว้เพียง “มรดกทางความคิด” อันมีคุณค่า...
 
@@@@@

ย้อนเวลาไปเมื่อเกือบ 8 ปีก่อน ณ ภายใต้หลังคาไม้แป้นเกล็ดของกระท่อมที่ถูกตั้งชื่อว่า “ลาบ- หลู้ SALOON” อันเป็นทั้งที่ทำงานและที่รับแขกไปในเวลาเดียวกันของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ หรือชื่อ-นามสกุลจริง ณรงค์ วงษ์สวรรค์ ท่ามกลางบรรยากาศล้านนา ที่รายล้อมไปด้วยสีเขียวของผืนป่าอันสงบเย็น ภายในสถานที่ที่เจ้าของตั้งชื่อว่า “สวนทูนอิน” เจ้าของสวน-เจ้าของกระท่อม-เจ้าของสมญานามพญาอินทรีแห่งสวนอักษร เคยเจียดเวลาพักผ่อน-พักฟื้นจากอาการป่วยด้วย “โรคไต” ให้มุมมองความคิดที่น่าสนใจผ่าน “เดลินิวส์”

’รงค์ วงษ์สวรรค์ ซึ่ง ณ ขณะนั้นมีอายุใกล้ 70 ปี ขณะนั้นพำนัก ณ สวนทูนอินราว 20 ปีแล้ว ได้บอกเล่าสั้น ๆ ถึงบางช่วงชีวิตก่อนที่จะตัดสินใจบ่ายหน้าออกจากกรุงเทพฯ เมืองหลวงไปลงหลักปักฐานที่สวนทูนอิน ท่ามกลางความสงบงามของธรรมชาติอันพิสุทธิ์ ของดอยโป่งแยง จ.เชียงใหม่ ใจความบางตอนว่า.....

“...ชีวิตผมเป็นเด็กชนบท (เกิด 20 พ.ค. 2475 ที่ จ.ชัยนาท วัยเด็กอยู่ จ.ราชบุรี) แล้วก็มาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯซะนาน จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นคนกรุงเทพฯ แต่วันดีคืนดีผมก็พบว่าผมพ่ายแพ้กรุงเทพฯ

พ่ายแพ้ด้วยเหตุอย่างน้อยสองข้อ คือหนึ่ง... ผมไม่เชื่อว่าผมจะดำรงความเป็นคนหนังสือพิมพ์และนักเขียนได้โดยใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งราคาแพงขึ้นทุกวัน ๆ แพงเกินกว่าที่ผมจะรับไว้ได้ ผมก็เตรียมตัวที่จะเริ่มหนีกรุงเทพฯ สอง...ผมคิดว่ากรุงเทพฯมันจะต้องล้มเหลว มลพิษต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย ถ้าเราไปอยู่ที่สูงจะเห็นว่ากรุงเทพฯเป็นป่าคอนกรีต อากาศก็ไม่พอจะหายใจ ผมคิดว่าผมอยู่ในสภาพอย่างนั้นไม่ได้ ผมคิดว่าผมยอมแพ้ โยนผ้าขาวแล้วสำหรับสังเวียนกรุงเทพฯ แล้วก็คิดมาอยู่กับป่า ซึ่งคนกรุงเทพฯเรียกกันว่าห่างจากความศิวิไลซ์ ไม่มีสีสันแสงสี อยู่อย่างนี้ผมรู้สึกว่าได้กลับคืนมาสู่โลกบริสุทธิ์อีกครั้ง

คนในชนบท ผมว่ามีมาตรฐานทางจริยธรรมสูง ผมมาอยู่ในป่าด้วยความคารวะต่อป่า ไม่ได้มาเบียดเบียนป่า มาอยู่ด้วยความเจียมเนื้อเจียมตัว สังคมชนบท สังคมป่า เขาก็มีแบบแผนที่ผมคิดว่างดงามมาก ซึ่งหาได้ยากมากในกรุงเทพฯ หรือในตัวเชียงใหม่เองก็ชักจะเหมือนกรุงเทพฯเข้าไปทุกวัน ๆ...”

ทั้งนี้ นอกเหนือจากประวัติชีวิตของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ซึ่งผู้สนใจงานเขียนของเขา ทั้งในฐานะนักหนังสือพิมพ์-นักเขียน คงจะทราบกันดีอยู่แล้ว ซึ่งคนทั่วไปก็คงจะพอทราบบ้าง หลังมีข่าวการเสียชีวิตของ“ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2538” ท่านนี้ กับบางมุมมองของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ซึ่งมีต่อสังคมไทย ในภาคการเมือง...ที่ยุคนี้ก็กำลังร้อนรุ่ม และในภาคนายทุน...ที่กี่ยุคสมัยก็ยังคงเป็นชนชั้นพิเศษเสมอ แค่เพียงการกล่าวสะท้อนผ่าน “เดลินิวส์” สั้น ๆ ก็อาจ “ได้ใจ-กินใจ” ใครต่อใครมากมายได้ง่าย ๆ

เมื่อเกือบ ๆ 8 ปีก่อน ’รงค์ วงษ์สวรรค์ สนทนา กับ “เดลินิวส์” ถึง “โคบาล-คาวบอย” อีกหนึ่งอิทธิพลต่องานเขียนของเขา โดยบอกว่า...“ชีวิตแบบโคบาลมันเป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรม เป็นชีวิตของลูกผู้ชาย ชีวิตของผู้ที่กล้าหาญ เป็นสุภาพบุรุษ ยกเว้นคาวบอยที่เลว โดยบุคลิกของคาวบอยที่แท้จริงจะต้องเป็นสุภาพบุรุษ เป็นนักต่อสู้ เป็นคนทำงานหนัก ซึ่งวิถีชีวิตอย่างนี้ผู้ชายทุกคนในโลกชอบ...เกือบทั้งโลกต้องชอบ”

และเมื่อถูกถามว่าถ้าไม่ใช่คาวบอย “แล้วแม่แบบของคนไทยล่ะ ?” พญาอินทรีอาวุโส แต่ “คมกระบี่ทางปัญญา” ยังคงความเฉียบ ตอบทันควันว่า... “...มีซิครับ..!! ความเป็นคนกล้าหาญ เป็นวีรบุรุษ เรามีอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ตลอดเวลา แต่เรามักจะมองข้ามไปโดยไม่ยกย่อง ทุกวันนี้เรามักจะยกย่องคนรวย หรือแม้แต่กระทั่งนักการเมืองที่เลวที่สุดเราก็ยังยกย่อง เพราะเขามีสตางค์มาก เราไปยกย่องคนผิด คนดีในสังคมไทยมีอยู่ตลอดเวลา แต่คนดีไม่มีบทบาทออกมาโดดเด่นเพราะถูกครอบงำหรือถูกกดเอาไว้ด้วยคนเลว

คนเลว ตัวอย่างที่เห็นง่าย ๆ คือนักการเมือง ค่อนข้างจะเลว (กล่าวเสียงเน้น) ถ้านัก การเมืองดี ประเทศไทยคงจะไม่ฟกช้ำเป็นบาดแผลมากขนาดทุกวันนี้...ที่คุณหรือ ผมกำลังเผชิญหน้าอยู่

เรามีคนดีอยู่ตลอดเวลาแต่คนดีมักไม่ออกมาปรากฏในสังคม มีหลาย ๆ ปัจจัยที่ทำให้คนดีไม่อยากปรากฏ หรือแม้แต่คนดีจริง ๆ ก็ไม่อยากลงมาเล่นการเมือง เพราะกลัวว่าตัวเองจะสกปรกไปด้วย...”

ขอย้ำ...ว่านี่เป็นคำกล่าวตั้งแต่เมื่อ 8 ปีก่อน !! ปัจจุบันคำกล่าวนี้ล้าสมัยหรือไม่...แล้วแต่จะคิด ??

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้น ๆ ปี 2544 ตั้งแต่ครั้งช่วงวัยของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ใกล้จะครบ 70 เขาเผยไว้กับ “เดลินิวส์” ถึง “งานเขียนที่ตั้งใจจะเขียนก่อนตาย” ว่า... “...มีเรื่องที่ตั้งใจมาก 2 เรื่อง แต่ไม่รู้ว่าจะทำไหวหรือไม่ไหว คือจะเขียนนวนิยายเกี่ยวกับการเมือง การทรยศหักหลังคดโกงประชาชน”

“เรื่องที่สองก็เกี่ยวกับเขื่อนหลายแห่งในประเทศไทย การมีรีสอร์ท มีสนามกอล์ฟมากมายในประเทศไทย คิดว่ามันไม่ยุติธรรมสำหรับประชาชน เห็นง่าย ๆ มีการแย่งน้ำจากเขื่อนไปใช้รดหญ้าแทนที่จะใช้ทำการเกษตรกรรม ข้อสำคัญคือการบุกรุกเป็นเจ้าของแผ่นดินมากมายก่ายกองของคนไม่กี่สกุลวงศ์ในประเทศไทย”

“ชาวนาชาวไร่ ที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ เป็นหยาดเหงื่อแรงงานของประเทศ กลับไม่ได้รับผลประโยชน์จากผืนแผ่นดินไทย เพราะกรรมสิทธิ์ตกเป็นของคนรวยไม่กี่คน ซึ่งซื้อมาทิ้ง เอาไว้เฉย ๆ บางคนมีที่ดินเป็นหมื่น ๆ ไร่ แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร มันควรจะเป็นของประชาชนเค้า มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้า...ขายนามาได้ 10 ล้าน 2 ปีก็หมด แล้วที่ดินก็ไปอยู่ในมือนายทุน ชาวนาบางคนเช่าที่นายทุนที่เคยซื้อที่ดินของตัวเองมาทำ มันไม่เป็นธรรมกับสังคม...”

@@@@@

ตั้งแต่ปี 2544 เรื่อยมาจนถึง 15 มี.ค. 2552 ถึงวันที่เสียชีวิต “พญาอินทรีแห่งสวนอักษร- ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ได้เขียนเรื่องที่เขาอยากเขียนก่อนจะตายแล้วหรือยัง ? จุดนี้อาจไม่สำคัญแล้ว อาการเส้นเลือดในสมองแตกอาจนำพาลมหายใจอายุใกล้ 77 ปีของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ไปแล้วก็จริง แต่ความตายก็ไม่อาจพราก “คมความคิดเพื่อสังคมไทย” ที่เขาได้สะท้อนสู่พวกพ้องน้องหลาน “ญาติอักษร” ไว้ในช่วงที่มีชีวิต...

“มรดกความคิด” ของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ย่อมมีผู้รับไว้

นักการเมืองขี้โกง-นายทุนเห็นแก่ได้...จะไม่สิ้นศัตรู !!!.

@@@@@

"เรื่องเล่า" ถึง "เรื่องเหล้า"

แม้ช่วงหนึ่งซึ่งยาวนานในช่วงชีวิตของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ จะมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ในกายอยู่ตลอด แต่เรื่องน้ำเมา-เรื่องเหล้าสำหรับเขาคนนี้แล้ว ใช่จะมีเพียงแง่มุมแห่งการดื่ม-แห่งการเมา อย่าง น้อย “เรื่องเล่า” เพียงสั้น ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับ “เรื่องเหล้า” ตามความคิด-ความเห็นของเขานี้...ก็น่าคิด ??

“ศาสตร์ในการทำเหล้าของไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าใครเลย การทำเหล้าเริ่มต้นลงท้ายนี่เหมือนกันหมด เพียงแต่เปลี่ยนรสชาติ เปลี่ยนกลิ่น ไปตามสภาพแวดล้อมของประเทศนั้น ๆ สิ่งที่ทำให้คิดว่าไม่เหมือนกันก็คือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ทำให้คนไปจำแนกว่าเหล้าไอ้นั่นดีกว่าไอ้นี่...”

“ประเทศไทยมีการผลิตเหล้าที่ดีที่สุดทุกภาค แต่ก็ถูกปิดกั้นเสรีภาพมาตลอด เงินที่ได้กำไรจากการผูกขาดเหล้าก็ไปตกอยู่กับนักการเมือง ซึ่งไม่เป็นเผด็จการก็เหมือนเป็น ไม่เป็นด้วยมีดพร้าอาวุธก็ต้องเป็นด้วยเผด็จการทางรัฐสภา ใครจะปฏิเสธผมบ้างล่ะว่านักการเมืองไม่เคยมาแตะต้องเงินของพ่อค้าเหล้าที่ผูกขาด”

...เป็นอีกแนวคิด-มุมมองของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่เคยสะท้อนผ่าน “เดลินิวส์” ไว้เมื่อเกือบ 8 ปีก่อน ที่หยิบยกมาเล่าสู่กันอีกครั้ง ณ ที่นี้ ซึ่งเรื่องแบบนี้...สงสัยว่าเข้าข่าย “ผู้ปกครอง (บ้านเมือง) โปรดพิจารณา”

ทีมวิถีชีวิต : รายงาน
 


Rediscover Hotmail®: Get e-mail storage that grows with you. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รายการบล็อกของฉัน

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ข่าวสาร ข้อมูล ทุกด้านต้องรับฟัง ไม่เชื่อสิ่งที่เห็น ฟังข่าวสารเพียงฝ่ายเดียว ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew ● ปรึกษาปัญหากฏหมาย ละเมิด,สัญญา,อายัดทรัพย์ ยึดทรัพย์ ปัญหาติดต่อราชการ ฟรี ● พิมพ์รายงาน,ค้นหาข้อมูล, ● งานพิมพ์ Lay-Out,Art Work สำนักพิมพ์ดาวหาง www.sanamluang.bloggang.com สนใจติดต่อสอบถาม workingmailhome@hotmail.com