ธงนำ ความคิด ธง การเมือง สูงเด่น เหนือ การทหาร
คอลัมน์ วิภาคแห่งวิพากษ์
![]() |
1 เป็นสถานการณ์การเคลื่อนไหวเมื่อเดือนตุลาคม 2516
1 เป็นสถานการณ์การเคลื่อนไหวเมื่อเดือนตุลาคม 2519
1 เป็นสถานการณ์การเคลื่อนไหวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535
1 เป็นสถานการณ์การเคลื่อนไหวเมื่อเดือนตุลาคม 2551
น่าสนใจก็ตรงที่สถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2516 อยู่ในยุคของรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร อันถือเป็นรัฐบาลทหารซึ่งมีความต่อเนื่องจากรัฐประหารเดือนกันยายน 2500 และจากรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 2514
น่าสนใจก็ตรงที่สถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2519 อยู่ในยุคของรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
น่าสนใจก็ตรงที่สถานการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 อยู่ในยุคของรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร อันถือเป็นรัฐบาลทหารซึ่งมีความต่อเนื่องจากรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2535 ของคณะทหารแห่ง รสช.
ขณะที่สถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2551 อยู่ในยุคของรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
ถึงแม้ว่าสถานการณ์จากเดือนตุลาคม 2516 จนถึงสถานการณ์เดือนตุลาคม 2551 จะมีความผิดแปลกแตกต่างกันทั้งในแง่ของรากฐานทางการเมือง และเหตุปัจจัยอันนำไปสู่ความขัดแย้งและปะทะ
กระนั้น บทเรียน "ร่วม" ที่พึงสำเหนียกเป็นอย่างมากก็คือ การใช้ความรุนแรงในการจัดการกับฝูงชนมากด้วยความละเอียดอ่อน
หากไม่ยึดกุมหลักการทางการเมืองอย่างเคร่งครัด สภาพก็มักจะบานปลาย
ความละเอียดอ่อนเป็นอย่างมากก็คือ ทันทีที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ทันทีที่ประกาศใช้ภาวะฉุกเฉิน เพื่อนำเอากำลังทหารมาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ นั่นหมายถึงแนวโน้มและความเป็นไปได้ของการเลือดตกยางออก
การเกิดบาดเจ็บอาจเป็นเรื่องที่สามารถรับได้ แต่พลันที่มีการเสียชีวิตและหากว่าเป็นการเสียชีวิตอย่างไม่สมควรแก่เหตุ เป้าหมายที่ต้องการความสงบเรียบร้อยก็อาจจะกลายเป็นตรงกันข้าม
ตรงนี้แหละที่โบราณเรียกอย่างรวบรัดว่าเป็น "น้ำผึ้งหยดเดียว"
สถานการณ์ที่รุนแรงกระทั่งจำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึก จำเป็นต้องประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ความหมายอย่างแท้จริงก็คือ การต้องให้บทบาทกับทหาร
นั่นก็คือ ทหารต้องเข้ามาแทนที่ตำรวจ
ถึงแม้ว่าในทางเป็นจริงทหารจะเข้ามาเป็นตัวละครหลักแทนตำรวจ แต่เนื่องจากสถานการณ์อันนำไปสู่การบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นสถานการณ์อันสัมพันธ์กับทางความคิด ทางการเมือง
หลักคิดอันเป็นพื้นฐานจึงยังจำเป็นต้องดำเนินไปบนแนวทาง "การเมืองนำการทหาร" อย่างเคร่งครัด
หากเมื่อใดนำเอา "การทหารนำการเมือง" นั่นหมายถึงจุดล่อแหลมอย่างยิ่ง
เพราะเมื่อเป็นความขัดแย้งทางความคิด ทางการเมือง ปริมณฑลแท้จริงของการต่อสู้ก็ยังอยู่ในปริมณฑลทางความคิด ทางการเมือง การต้องอาศัยกลไกทางการทหารมาก็มิได้มีเป้าหมายในการเข่นฆ่าทำลาย
หากแต่เพื่อต้องการยุติความขัดแย้งที่อาจบานปลาย จากนั้น ก็นำเอาความขัดแย้งนั้นไปอยู่ในปริมณฑลของการต่อสู้ทางความคิด การต่อสู้ทางการเมือง
การฆ่าทางความคิดต่างหากคือเป้าหมายสูงสุดในความเป็นจริงของการต่อสู้
น่ายินดีที่รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังเป็นผู้กำกับและควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งนี้
พรรคประชาธิปัตย์เคยมีบทเรียนมาแล้วในสถานการณ์นองเลือดเมื่อเดือนตุลาคม 2519 จึงหวังว่าจะไม่ย่ำซ้ำรอยที่ผิดพลาดอย่างหนักหนาสาหัสมาแล้วในทางการเมือง
นั่นก็โดยยึดกุมหลักการทางการเมืองเป็นธงนำในการจัดการกับปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น
หน้า 3
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01col02140452§ionid=0116&day=2009-04-14
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น