ข่าวสาร ข้อมูล ทุกด้านต้องรับฟัง ไม่เชื่อสิ่งที่เห็น ฟังข่าวสารเพียงฝ่ายเดียว ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew ● ปรึกษาปัญหากฏหมาย ละเมิด,สัญญา,อายัดทรัพย์ ยึดทรัพย์ ปัญหาติดต่อราชการ ฟรี ● พิมพ์รายงาน,ค้นหาข้อมูล, ● งานพิมพ์ Lay-Out,Art Work สำนักพิมพ์ดาวหาง www.sanamluang.bloggang.com สนใจติดต่อสอบถาม workingmailhome@hotmail.com

"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

ฉันไม่ชอบกฎหมาย
Blognone
Bookmark and Share

วันพุธที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

อานันท์ ปันยารชุน′ วิพากษ์ปชต.แบบไทยๆ และธรรมเนียมเข้าเฝ้าฯ

 
สัมภาษณ์พิเศษอดีตนายกฯ′อานันท์ ปันยารชุน′ วิพากษ์ประชาธิปไตยแบบไทยๆ พิศพระราชอำนาจ-ทศพิธราชธรรม และธรรมเนียมการ ′เข้าเฝ้าฯ′

สถานการณ์สร้างวีรบุรุษเสมอไม่เคยเปลี่ยน
เมื่อเกิดรัฐประหาร พ.ศ.2534 พล.อ.สุจินดา คราประยูร เสนอชื่อให้ "นายอานันท์ ปันยารชุน" ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ดำรงสถานะแห่ง "รัฐบาลโปร่งใส"
 เมื่อเกิดเหตุ "พฤษภาทมิฬ" และมีชื่อ "พล.อ.สุจินดา คราประยูร" เป็นนายกรัฐมนตรีที่ต้อง "เสียสัตย์เพื่อชาติ" จนต้อง "ลาออก"
 
ความเปลี่ยนแปลง-ผันผวนทางการเมือง พลิกผันให้ "อานันท์" กลับเข้าทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ก่อนที่จะส่งไม้ต่อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดย "นายชวน หลีกภัย" ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 20
 เมื่อประเทศต้อง "ออกแบบ" เครื่องมือในการปกครองใหม่ให้สอดคล้องกับโลกาภิวัตน์ "อานันท์" มีบทบาทหลักในการวาง "ผัง-แผนที่" ให้กับฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ-ตุลาการ และองค์กรอิสระ บรรจุไว้ใน "รัฐธรรมนูญ" ฉบับประชาชน พ.ศ.2540
 เมื่อสังคม-การเมือง-เศรษฐกิจเกิดข้อขัดแย้งทุกหย่อมหญ้า "อานันท์" เชื่อมั่นในความดีของคนไทย และถึงเวลาที่ต้องพักและมีสติ 
 บรรทัดต่อไปนี้คือวิถีในการมองโลก-สังคม-การเมือง และสถาบันหลักของชาติ ของ "อานันท์" ในยุค พ.ศ.2552

@ ถ้าจะแก้ปัญหาความแตกแยก หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าประเทศไทยควรเข้าสู่โหมดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งโดยการปฏิรูปการเมือง ควรเริ่มต้นจากตรงไหน และกระบวนการควรเป็นอย่างไร
      
ระบบการปกครองของเมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ.2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย ต่างจากในประเทศอื่นมีการพัฒนาระบบมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐ ในกระบวนการของการเปลี่ยนก็มีการสะดุด หลายประเทศมีสงครามกลางเมือง ในฝรั่งเศสมีการปฏิวัติที่ค่อนข้างจะรุนแรง
    
ประชาธิปไตยของเรามีเวลา 75 ปี จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งพระมหากษัตริย์ใช้ทศพิธราชธรรมปกครอง ซึ่งผมถือว่าเป็นหลักธรรมาภิบาลของไทยที่แท้จริง พระมหากษัตริย์ของเราถึงแม้จะมีพระราชอำนาจโดยเด็ดขาด แต่การใช้อำนาจท่านทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม 10 ข้อ เป็นการจำกัดอำนาจของท่านโดยทางอ้อม คือท่านจำกัดอำนาจของท่านเอง พอเรามาเปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตย มีเรื่องของการมีรัฐธรรมนูญ มีสภา บางระยะก็เป็นสภาเดียว บางระยะก็เป็น 2 สภา บางระยะก็เป็นสภาเลือกตั้งทั้งหมด
   
ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2475-2552 กระบวนการประชาธิปไตยของเรา 70 กว่าปี ซึ่งน้อยมาก ตอนผมเด็กๆ ในโรงเรียนจะมีการสอนว่า เรามีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ระบอบกษัตริย์อยู่มาประมาณ 770 ปีแล้ว แต่เป็นระบอบกษัตริย์ที่มีอำนาจโดยสมบูรณ์ภายใต้ขอบเขตของรัฐธรรมนูญ แต่ระบอบกษัตริย์เป็นหลักใหญ่นะ ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยนะ 
   
เพราะแม้แต่พระราชอำนาจที่ได้จากรัฐธรรมนูญก็เป็นพระราชอำนาจที่ผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ ผ่านฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ ที่ใช้อำนาจเองไม่มีเลย ทุกครั้งก็ต้องมีคนรับสนองพระบรมราชโองการ ท่านมีเพียงแต่ลงพระปรมาภิไธย
   
พระราชอำนาจซึ่งเป็นสิทธิของท่าน มีอำนาจที่จะได้รับการปรึกษา อำนาจในการที่จะเตือนสติ มีอำนาจที่จะให้กำลังใจ มี 3 พระราชอำนาจเท่านั้น ซึ่งคุณจะเขียนรัฐธรรมนูญมาอย่างไรก็แล้วแต่
   
ถ้าจะให้ท่านลงพระปรมาภิไธย เรื่องแต่ละเรื่องทั้งนั้น ท่านก็ต้องทราบที่มาที่ไป ก็เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่จะต้องเข้าเฝ้าฯเป็นการส่วนพระองค์ เป็นหน้าที่ที่เรียกว่า ถวายงาน อย่างเช่นมีพระราชบัญญัติสำคัญก็ต้องไปกราบบังคมทูลท่านว่าจะมีเข้ามาเพราะอะไร มีเจตจำนงอย่างไร จะมีผลบังคับใช้ในทางใด หรือถ้าเป็นงานบริหารจะมีโครงการอะไร อย่างสร้างเขื่อนที่ไหน อะไรก็แล้วแต่ก็ต้องไปกราบบังคมทูลรายงานท่าน ระหว่างรายงานท่านก็ไปขอคำปรึกษาท่านด้วย ถ้าไม่ไปถามท่าน ท่านก็ไม่ให้นะ
   
พระองค์มีพระราชอำนาจที่จะได้รับการปรึกษา คือต้องมีคนไปรายงาน และไปถามความเห็นก่อน ท่านถึงจะพระราชทานคำปรึกษา แต่ไม่ใช่ว่าเป็นลักษณะที่เอาอันนั้นไม่เอาอันนี้ ไม่ใช่นะ เป็นการคุยกันเพื่อให้ทราบถึงเรื่องว่ามันเกิดขึ้นมาเพราะอะไร ผลจะเป็นอย่างไร ระหว่างนั้นท่านอาจเตือนสติบางอย่าง ท่านอาจให้กำลังใจ แต่ไม่ว่าคำปรึกษาที่พระราชทานมา เป็นคำปรึกษาที่ไม่ได้บอกว่า ผิดถูกหรืออย่าทำ
    
เป็นลักษณะของการเข้าเฝ้าฯ และเมื่อสนทนากันเสร็จแล้วนายกฯไม่ออกมาพูดในที่สาธารณะ เพราะถ้าถ่ายทอดมาผิด พระองค์ท่านเสียนะ แล้วท่านมาปฏิเสธก็ไม่ได้ นายกฯบางคนก่อนเข้าเฝ้าฯก็บอกว่าจะไปเรื่องอะไร ออกมายังพูดต่ออีก แล้วพูดผิดด้วย จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็จะทำให้สถานะของพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องของการอยู่เหนือการเมืองก็ดี เหนือคำขัดแย้งก็ดี ทำให้พระองค์ท่านอยู่ในฐานะลำบาก
    
จะมาบอกว่าท่านเห็นด้วยกับเรื่องนี้ จะเห็นหรือไม่คนที่ไปเข้าเฝ้าฯไม่มีสิทธิมาพูด และการสนทนาระหว่างพระเจ้าอยู่หัวกับนายกรัฐมนตรีอาจจะ 80% จะหายไป ระหว่างนั้นก็ไม่มีการจดบันทึก นายกฯก็ไม่มีสิทธิจะพูด นอกจากพระราชบัญญัติที่จะเสนอขึ้นไปก็อาจจะนำมาเล่ากับรัฐมนตรีบางคนเท่านั้น
     
การเป็นนายกรัฐมนตรีต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะการเข้าเฝ้าฯ อย่ามาใช้ประโยชน์จากการเข้าเฝ้าฯ และอย่าทำให้สถานะพระองค์ท่านอยู่ในที่ล่อแหลม ภาษาธรรมดาเขาบอกว่า อย่าทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท แต่ความหมายคือ อย่ามาอ้างความละเอียดอ่อนก็มีอยู่
     
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์นี้มีบารมีมาก ไม่ได้เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับไหนเลย แต่เป็นบารมีที่ท่านสะสมมาจากการปฏิบัติพระองค์ท่านในฐานะพระมหากษัตริย์ ความสนใจกับกิจกรรมที่ท่านทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวสยาม ตั้งแต่ขึ้นครองราชย์มาท่านทำอยู่อย่างเดียว คือเรื่องทุกข์สุขของประชาชน และความมั่นคงของประเทศชาติ
    
ตลอดเวลาที่ผมเป็นนายกฯอยู่ 2 ครั้ง ครั้งแรก 1 ปี 5 เดือน ครั้งที่ 2 ราว 5-6 เดือน พระองค์ท่านไม่เคยก้าวก่ายเรื่องการเมืองเลย ไม่เคยเลย บางครั้งผมถึงสลดใจที่คนชอบอ้างต่างๆ นานา และในสังคมไทยพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพรัก เป็นที่สักการะบูชา แต่ก็มีความพยายามที่จะดึงสถาบันลงมา ดึงพระเจ้าอยู่หัวลงมาให้เปรอะเปื้อน
@การออกมาพูดถึงวาระเข้าเฝ้าฯถวายรายงานของนายกรัฐมนตรี เพิ่งมีหรือมีมานานแล้ว
     
มีมาสัก 7-8 ปี ซึ่งจริงๆ ไม่ควรมีข่าวอะไรมาก นอกจากข่าวพระราชสำนัก และเข้าเฝ้าฯมาแล้วอาจมีการบอกเล่าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสายงานที่ต้องไปทำต่อ ท่านไม่เคยแสดงว่าท่านต้องการอะไร สมัยก่อนตั้งแต่ 30-40 ปี เวลามีรัฐประหารทีไรก็จะมีข่าวออกมาเสมอว่า เรื่องนี้ได้ไฟเขียวจากพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ผมคิดว่ามันแปลก และไม่จริง
    
หรือเมื่อเร็วๆ นี้ทักษิณ (ชินวัตร) ก็เพิ่งให้สัมภาษณ์เรื่องเหตุการณ์ก่อนปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ผมว่ามันเป็นเรื่องเฟ้อฝันที่ไม่น่าเกิดขึ้น และมันไม่เป็นความจริง
@ การปฏิบัติของนายกรัฐมนตรีเมื่อเข้าเฝ้าฯต้องทำอย่างไร
     
เป็นเรื่องที่ใครก็ตามที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้บ้างว่า อะไรควรทำ อะไรไม่ควรเปิดเผย เพราะฉะนั้นเป็นการเอาเปรียบพระเจ้าอยู่หัวนะ นายกรัฐมนตรีบางคนถึงขนาดเอากล้องทีวีไปถ่ายเพื่อให้คนดูได้ยินว่าคุยกับพระเจ้าอยู่หัวเรื่องอะไร ซึ่งไม่ถูก ไม่เหมาะสมที่จะทำ ผมก็คิดว่าปัจจุบันนี้ระบอบพระมหากษัตริย์ก็ยังเป็นระบอบที่แน่นอนว่าคนไทยส่วนใหญ่ที่ยังอยากให้คงไว้ซึ่งระบอบนี้ คนไม่เห็นด้วยอาจจะมี ซึ่งผมคิดว่าคนไทยก็ต้องใจกว้างพอนะ ตราบใดที่ไม่ได้พูดจาถล่มทลายระบอบนี้ ทำลายสถาบันโดยวิธีการที่ผิดรัฐธรรมนูญ อย่างนั้นก็ไม่ได้ ถ้ายังเป็นระบอบนี้อยู่ก็เป็นเรื่องระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
@เสาหลักของประชาธิปไตยในด้านต่างๆ ต้องทำให้แข็งแรงมากน้อยแค่ไหน
   
พอมีปัญหาการเมือง ความขัดแย้ง หรือมีการนองเลือด สิ่งแรกที่เราชอบพูดคือ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ผมไม่คิดว่าเป็นปัญหาที่รัฐธรรมนูญอย่างเดียว ผมกลับมองว่ารัฐธรรมนูญมีความสำคัญ การเลือกตั้งมีความสำคัญ ตราบใดที่การเลือกตั้งนั้นเสรีและยุติธรรม แต่เป็นที่รู้กันว่าการเลือกตั้งในเมืองไทยส่วนใหญ่ไม่ยุติธรรม มีเสรีในนามธรรมทั้งนั้น แต่คนที่ปรับปรุงต้องมีใจเป็นประชาธิปไตย และความยุติธรรม ไม่เช่นนั้นก็เหมือนเดิมอีก
@ วิเคราะห์ว่าปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงในปัจจุบันมาจากอะไร
    
ผมไม่อยากพูดถึงความขัดแย้งปัจจุบัน แต่พูดถึงความขัดแย้งของสังคมทุกสังคม สิ่งที่สำคัญที่สุดและทุกรัฐบาลต้องดูแลคือความขัดแย้งในเรื่องของการแย่งทรัพยากร ผมว่ารัฐบาล หน้าที่รัฐบาลคืออะไร อย่าไปบอกว่าเป็นฝ่ายบริหารจะต้องมีนั่นมีนี่ ผมมองว่าหน้าที่รัฐบาลคือการจัดสรรทรัพยากรของชาติให้กับบุคคลทั่วไป ให้กับประชาชนด้วยความยุติธรรมเท่านั้น  

@ เป็นเพราะรัฐบาลไม่ได้ทำหน้าที่ในการจัดสรรทรัพยากร ทำให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้น
       
ใช่...แต่เวลาผมพูดไม่ได้หมายถึงรัฐบาลโน้น รัฐบาลนี้ เพราะเป็นปัญหาของทุกสังคม เป็นทุกประเทศ ไปดูในประเทศที่ใช้ระบบทุนนิยมในอเมริกา จีน ฯลฯ รวมทั้งไทยช่องว่างมีแต่จะมากขึ้น ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยเป็นปัญหาของทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือยังไม่พัฒนา เป็นประชาธิปไตยแล้วหรือยังไม่เป็น เรื่องนี้เป็นปัญหาโลกแตกและจะไม่หมดไป รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องต่อสู้กับปัญหานี้ ซึ่งนำไปสู่ความแตกแยกและขัดแย้ง
@ ฝ่ายตุลาการที่มีบทบาทในโครงสร้างอำนาจมากขึ้น จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหรือไม่
   
ผมว่าเป็นการอ้างมากกว่านะ ทุกประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยที่ค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา อังกฤษ ระบบตุลาการก็มีส่วนในการแก้ไขปัญหา ตัวอย่างปัญหาเลือกตั้งระหว่างบุชกับอัล กอร์ ในสหรัฐอเมริกา สุดท้ายก็ต้องให้ศาลฎีกาเป็นตัวตัดสิน ถึงได้มีการยุติข้อขัดแย้งทางด้านการเมือง ฉะนั้นไม่ใช่ของแปลก เราจะเรียกกันโก้หรูว่า ตุลาการภิวัตน์ ซึ่งผมก็ไม่ได้คัดข้อง แต่ความหมายคือว่า ศาลที่ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ศาลที่ดีจะไม่ยุ่งเรื่องการเมือง ตัดสินตามเนื้อผ้า
     
แต่ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ต้องมีคนชอบ ไม่ชอบ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย แต่ปัญหาคือการชอบไม่ชอบอยู่บนมูลฐานของข้อเท็จจริง เหตุผล หรือประโยชน์ เราต้องพูดกันแบบผู้ใหญ่มากกว่า อย่าไปมัวหมกมุ่นว่าคนนั้นชอบ คนนั้นไม่ชอบ ถ้าประเทศไหนเอาศาลเป็นที่พึ่งไม่ได้ ผมว่าตายแล้ว เพราะศาลสถิตย์ไว้ซึ่งความยุติธรรม และศาลไทยยังอาศัยบารมีของพระเจ้าอยู่หัวลงมาอีกด้วย ถ้าศาลหมดความศักดิ์สิทธิ์ผมว่าแย่ คนที่บอกว่าเมืองไทยมี 2 มาตรฐาน แต่ผมคิดว่า คนที่พูดถ้าเป็นประโยชน์กับเขาก็ใช้
@ หลักดีอยู่แล้ว แต่คนไม่ดี
   คุณพูดนะ ไม่ใช่ผม (หัวเราะ)
@ ถ้าจะสร้าง "เสาหลัก" ของประเทศให้แข็งแรง ก็ต้องเริ่มต้นกันใหม่
    
ต้องมีนักการเมือง ระบบการเมืองที่ดีด้วย ถ้านายกรัฐมนตรีคนหนึ่งไม่โกง ปัญหาคอร์รัปชั่นในเมืองไทยไม่ได้หมดไป แต่น้อยลงแน่ เหมือนคำที่ว่า ถ้าหัวไม่ส่ายหางก็ไม่กล้าขยับ แต่ถ้าหัวส่าย หางยิ่งแกว่งใหญ่เลย ยิ่งมีหลายหัวนะ ถ้านายกฯทำงานด้วยความโปร่งใส สังคมจะน่าอยู่ รัฐมนตรีที่จะโกงกินก็อึดอัด ถ้านายกฯไม่กิน รัฐมนตรีไม่กิน นักการเมืองจะกินก็เหนื่อย นักธุรกิจก็เช่นกัน ถ้ามีระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ที่สมบูรณ์ จะลด-บรรเทา ปัญหาคอร์รัปชั่นไปได้เยอะเลย
@ เป็นห่วงกับสถานการณ์ของประเทศไทยหรือไม่
   
ผมไม่ใช่คนทุกขนิยม และมีความเชื่อมั่นในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ผมมีความเชื่อมั่นในความดีของคนไทย ผมว่าถึงเวลาที่เราต้องพักสติ มีสติ มีคนบอกว่า นักการเมืองเราใช้ไม่ได้ แต่ผมว่าทุกประเทศที่มีทั้งคนดีไม่ดี ผมยังรู้สึกว่า ในระบบการเมืองไทยปัจจุบันมีเด็กรุ่นใหม่เข้ามามากก็เป็นสิ่งที่ดี เหมือนอย่างเมื่อครั้งหนึ่งที่เราเบื่อนักการเมือง เบื่อทหาร ต้องเอานักธุรกิจมามีอำนาจ แต่นักธุรกิจที่โกงก็เยอะแยะ 
@ นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ น่าจะเป็นความหวัง
       
ผมไม่วิจารณ์ตัวบุคคล
@ ท่านพูดว่าหากนายกรัฐมนตรีไม่โกงคนหนึ่ง ประเทศก็จะดีขึ้นเยอะ
    
ปัญหาสังคมไทยไม่ใช่เรื่องคอร์รัปชั่นอย่างเดียวนะ อาจมีคนดี แต่ทำงานไม่เป็นก็เหนื่อยเหมือนกันนะ (หัวเราะ) คนตั้งใจดีแต่ทำงานไม่เป็น เหนื่อยทั้งนั้น หรือคนทำงานเก่งแต่ขี้โกง ก็เหนื่อยอีก พูดง่ายๆ จะเอาทั้งดีทั้งเก่งก็ต้องไปหามา ซึ่งผมว่ามีอยู่ เวลาเกิดเหตุจริงๆ ก็จะโผล่ขึ้นมาเอง
http://www.matichon.co.th/prachachat/news_detail.php?id=3327&catid=1
 


Hotmail® has a new way to see what's up with your friends. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รายการบล็อกของฉัน

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ข่าวสาร ข้อมูล ทุกด้านต้องรับฟัง ไม่เชื่อสิ่งที่เห็น ฟังข่าวสารเพียงฝ่ายเดียว ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew ● ปรึกษาปัญหากฏหมาย ละเมิด,สัญญา,อายัดทรัพย์ ยึดทรัพย์ ปัญหาติดต่อราชการ ฟรี ● พิมพ์รายงาน,ค้นหาข้อมูล, ● งานพิมพ์ Lay-Out,Art Work สำนักพิมพ์ดาวหาง www.sanamluang.bloggang.com สนใจติดต่อสอบถาม workingmailhome@hotmail.com