เมืองบน-เมืองอู่ตะเภา ที่นครสวรรค์ กับ ชัยนาท
คอลัมน์ สยามประเทศไทย
โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

เขตนครสวรรค์ เป็นอำเภอพยุหะคีรีที่ตำบลท่าน้ำอ้อย
เขตชัยนาท เป็นอำเภอมโนรมย์ ที่ตำบลอู่ตะเภา
บริเวณอำเภอพยุหะคีรี (นครสวรรค์) ต่อกันกับอำเภอมโนรมย์ (ชัยนาท) เป็นที่ราบลุ่มผืนเดียวกันมานานราว 3,000 ปีมาแล้ว มีแม่น้ำใหญ่ (เจ้าพระยา) เป็นแกน แล้วมีลำน้ำสาขากับห้วยหนองคลองบึงหลายสายไหลลงแม่น้ำใหญ่ เช่น หางน้ำสาคร ฯลฯ
ตรงที่ราบลุ่มมโนรมย์-พยุหะคีรี น่าเชื่อว่าจะเคยเป็นทะเลหรือหนองบึงใหญ่มาก่อน เมื่อราว 5,000-10,000 ปีมาแล้ว จากนั้นค่อยๆ ตื้นเขินเป็นโคลนตม หรือเป็นเวิ้งน้ำกว้างใหญ่ของแม่น้ำใหญ่คล้ายบริเวณลานเทที่อยุธยา จึงมีคำบอกเล่าเก่าแก่ว่าเคยเป็น อู่สำเภา 2 อู่ มีอู่บนกับอู่ล่าง
![]() บริเวณโคกไม้เดน มีเขาไม้เดนกับยอดอื่นๆ ต่อกันเป็นพืดสั้นๆ คนยุคเหล็กเมื่อราว 2,500 ปีมาแล้ว ยกย่องเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ใช้ทำพิธีกรรมในศาสนาผี (ก่อนรับศาสนาพุทธจากอินเดีย) แล้วทำรูปเคารพเนื่องในศาสนาผี เช่น รูปตะกวด อาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ แห่งคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายรูปนี้ว่าเป็นตะกวดทำด้วยโลหะสำริด พบบริเวณเขาไม้เดน รอบนอกด้านตะวันออกของเมืองบน อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ กำหนดอายุอยู่ในยุคสุวรรณภูมิ เมื่อราว พ.ศ.1-500 ชิ้นงานหล่อขึ้นง่ายๆ อย่างฝีมือช่างพื้นบ้าน เนื้องานไม่ประณีตนัก แต่ก็ถูกต้องตามสรีระของสัตว์ประเภทนี้ อาจเป็นของใช้ในพิธีกรรม โดยมีความหมายเกี่ยวเนื่องกับคติการบูชาสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอย่างพวกตะกวด จระเข้ กบหรือคางคก |
อู่บน อยู่ที่บ้านบน ตำบลท่าน้ำอ้อย อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ มีเมืองโบราณชื่อชาวบ้านเรียกภายหลังว่า เมืองบน (มีรายละเอียดในหนังสือ โบราณวัตถุสมัยทวารวดีแห่งใหม่ กรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.2508)
อู่ล่าง อยู่ที่บ้านอู่ตะเภา ตำบลอู่ตะเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท มีเมืองโบราณชื่อชาวบ้านเรียกภายหลังว่า เมืองอู่ตะเภา (มีรายละเอียดในหนังสือ โบราณคดีเมืองอู่ตะเภา กรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.2534)
เมืองบน กับ เมืองอู่ตะเภา มีพัฒนาการร่วมกันจากชุมชนถลุงเหล็กราว 2,500 ปีมาแล้ว อยู่บนชุมทางคมนาคม แนวเหนือ-ใต้ กับแนวตะวันตก-ตะวันออก ควบคุมทางน้ำ 3 แห่ง คือ แม่น้ำสะแกกรัง (อุทัยธานี), แม่น้ำมะขามเฒ่า (คือแม่น้ำท่าจีน ไหลลงสุพรรณบุรี-นครปฐม), แม่น้ำน้อย (ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยุธยา)
ด้วยเหตุนี้เองเมื่อชุมชนถลุงเหล็กรับศาสนาจากอินเดียผ่านยุคสุวรรณภูมิ ก็เติบ โตเป็นบ้านเมือง และเป็นรัฐในยุคทวารวดี เมื่อราวหลัง พ.ศ.1000 แล้วขุดคูน้ำคันดินเป็นขอบเขตรูปกลมรีไม่สม่ำเสมอ
แต่น่าประหลาดที่ไม่พบสถูปเจดีย์ใหญ่น้อยบริเวณเมืองบนกับเมืองอู่ตะเภา พบแต่ซากเศษรูปเคารพ เช่น ธรรมจักร, พระพุทธรูป, เครื่องรางประดับ ฯลฯ
น่าเชื่อว่าบริเวณ บ้านโคกไม้เดน ที่อยู่บนเนินสูง มีทิวเขาเตี้ยหลายยอดเป็นพืดไปทางด้านเหนือของทุ่งราบมโนรมย์ เป็นแหล่งศักดิ์สิทธิ์ใช้ทำพิธีกรรมร่วมกันของเมืองบนกับเมืองอู่ตะเภามาแต่ยุคเหล็กเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว
ครั้นรับพุทธศาสนาก็ยกย่องเป็นเขตพุทธาวาสปนกับสังฆาวาส จึงพบสถูปเจดีย์ยุคทวารวดีนับ 10 แห่ง ทั้งบนยอดเขาและตีนเขา ที่กรมศิลปากรไปขุดค้นแล้วขุดแต่งไว้หลายแหล่ง
ทั้งเมืองบนและเมืองอู่ตะเภา ควรเป็นบ้านเมืองหรือรัฐเดียวกัน หรือมิฉะนั้น ก็เป็นเครือญาติใกล้ชิดกัน แล้วมีชุมชนเครือข่ายบริวารเป็นแหล่งทรัพยากรออกไปโดยรอบ โดยเฉพาะกระจายไปทางเขตอำเภอตาคลี ถึงอำเภอตากฟ้า ซึ่งจะเชื่อมโยงกับเมืองจันเสนได้ด้วย
ผู้คนของเมืองบนและเมืองอู่ตะเภา รวมทั้งเครือข่ายบริวาร มีพุทธสถานอยู่บริเวณเขตศักดิ์สิทธิ์ร่วมกันมาก่อนนานแล้วที่บ้านโคกไม้เดน ที่ทุกวันนี้มี วัดเขาไม้เดน แล้วมีพระสงฆ์ดูแลรักษาพุทธสถานเหล่านั้น
สอง อบต. สองอำเภอ ในสองจังหวัด ถ้าได้ร่วมกันแบ่งปันเผยแพร่ความรู้เรื่องเมืองบนกับเมืองอู่ตะเภาสู่ท้องถิ่นทั้งสอง โดยผ่านบ้าน-วัด-โรงเรียน (บวร) จะประเสริฐสุด
หน้า 21
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pra03010552§ionid=0131&day=2009-05-01
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น