รายงานโดย :ชุติมา–วันพรรษา: | วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2552 |
![]() |
ไฮโดรโปนิคลอยฟ้า |
แนวคิดปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานเองเพื่อประหยัดเงินในภาวะแฮมเบอร์เกอร์ไครซิส กำลังเป็นเรื่องฮอตฮิตของอเมริกันชน ณ ยามนี้
คนไทยฟังแล้วรู้สึกอย่างไร คนยุคใหม่อยู่กันอย่างเร่งรีบ หรือบางทีเราจะหลงลืมไป แปลงผักในบ้านคุณ ...อาจเนรมิตได้ด้วยจุดเริ่มต้น "รักและประทับใจ" เช่นเดียวกับ 2 คนกรุงที่ไม่ทิ้งวิถีเดิม ขอมีความสุขกับผักแปลงเขียว ซึ่งทันทีที่หยอดเมล็ดพันธุ์ อีกไม่นานยอดอ่อนก็ผลิใบ พลันความรักก็ติดยอดผักสีเขียวมาให้เก็บกิน (และเก็บตังค์)
"Butterhead" ผักยิ้มได้!!!
บ้านหลังใหญ่เก่าแก่กลางซอยประสานมิตร ร่มรื่นด้วยแมกไม้ใหญ่ร่มครึ้ม เสียงนกร้องจุ๊บจิ๊บๆ มีให้ฟังตลอดวัน เป็นบ้านหลังอบอุ่นของ สุมนพินทุ์ โชติกะพุกกะณะ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและสื่อสารองค์กร บริษัท สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ (ไทยแลนด์) สมาชิก 4 คน คือ คุณดาว-สุมนพินทุ์ กับสามีและลูกชายอีก 2 คน
บนพื้นที่ว่างหน้าโรงเก็บรถ คุณดาว ลงทุนเริ่มต้น 1 หมื่นบาท ทำโรงเรือนเพาะชำผักไฮโดรโปนิค หรือผักน้ำ 2 แปลงเล็กๆ ปลูกแบบลอยฟ้าไร้ดิน หน้าตาเป็นรางพลาสติกสีขาวยาวราว 2 เมตรเรียงต่อกันไป 5 แถว ด้านบนเจาะรูหยอดเมล็ดพันธุ์ มีท่อน้ำต่อเชื่อมรางแต่ละรางเข้าด้วยกันวางอยู่บนขาหยั่งสูง ปลายรางต่อท่อน้ำหยดกับปั๊ม ให้น้ำหมุนเวียนได้ตลอด
![]() |
เจ้าบัตเตอร์เฮดแย้มยิ้ม |
เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เพราะสามีไม่สบายอยู่พักหนึ่งด้วยโรคลูคีเมีย การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต จึงเป็นสิ่งแรกที่แม่บ้านเอาใจใส่
"หลังจากสามีปลูกถ่ายไขกระดูกจากพี่ชาย ดิฉันคิดว่าหลังจากนี้เราคงต้องเปลี่ยนวิธีการกินอยู่เสียใหม่ การกินอาหารดีๆ ช่วยรักษาสุขภาพและการกินผักปลอดสารพิษคือทางเลือกที่ดีที่สุด" คุณดาวบอก อานิสงส์การปลูกผักกินเองทำให้ได้กินผักเยอะขึ้น ตามตำราบอกว่าต้องรับประทานผัก 70 เปอร์เซ็นต์ต่อ 1 มื้อ มื้อเที่ยงบางวันทำสลัดผักใส่กล่องไปกินที่ทำงานด้วย
"การเลี้ยงต้นไม้ได้เฝ้าดูการเจริญงอกงามเหมือนเลี้ยงลูก ตั้งแต่เล็กๆ กระทั่งผลิใบ จนโตเต็มที่อย่างบัตเตอร์เฮดต้นนี้ ดูสิ เขาค่อยๆ แย้มใบเหมือนกุหลาบ เหมือนยิ้มให้เราเลยนะ" คุณดาวว่า มองไปที่แปลงผักเจ้าบัตเตอร์เฮดทั้งหลาย เหมือนพากันแย้มยิ้มให้จริงๆ
ผักข้างรั้ว-สวนครัวทำเงิน
เรื่องของเรื่องเกิดขึ้นเมื่อคุณแจม-สุทธิกัญญา ไทยเพ็ชร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เล็กซ์ซัส กรุงเทพ เดินทางไปกับออฟโรดเดอร์คลับทริปของโตโยต้าปลายปีที่ผ่านมา ออกสตาร์ตที่ประเทศไทยไปประเทศลาวและล่องยาวไปถึงเวียดนาม ในฐานะบอสใหญ่ของเล็กซ์ซัส คุณแจมดูแลความเรียบร้อยของทริป ขณะเดียวกันก็สนุกไปกับสองข้างทางอันยาวไกล
![]() |
โครงการผักสวนครัว ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง |
ผ่านประเทศไทยไปด้วยวิวที่คุ้นเคย นอกหน้าต่างรถเป็นสีเขียวสลับน้ำตาลไปตลอดเส้นทาง คุณแจมจึงยังตัดสินใจไม่ได้ว่า ไทยเราแห้งแล้งหรืออุดมสมบูรณ์กันแน่ ผ่านไปประเทศลาว สองข้างทางแห้งเป็นสีน้ำตาลตลอด คุณแจมรีบจดโน้ตไว้ในใจ แอบปลื้มหน่อยๆ ว่าไทยเขียวกว่าลาว ที่ไหนได้ทันทีที่ขบวนออฟโรดเข้าเวียดนาม สองข้างทางก็เปลี่ยนปุ๊บกลายเป็นสีเขียวชุ่มฉ่ำ สรุปได้ว่าเวียดนามเขียวที่สุด
ฝนออกจะเยอะ เพราะเป็นหน้ามรสุม สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้ต้นไร่ คุณแจมประทับใจว่าบ้านทุกหลังในเวียดนาม ดูเหมือนจะพร้อมใจกันปลูกผัก หน้าบ้านหลังบ้านชาวเมืองต่างกันพื้นที่ไว้ปลูกผักแปลงเล็กแปลงน้อย ดูพร้อมเพรียงและได้ใจ พร้อม ๆ กับได้ใช้ประโยชน์
กินก็ได้ สร้างบรรยากาศก็ดี คุณแจมกลับถึงประเทศไทยพร้อมกับแปลงผักสวนครัวที่ยังอยู่ในใจ ก็พอดี "ศรราม" ยามที่บริษัทเดินเข้ามาขอพบ สายตามาดมั่นบอกความต้องการว่าจะขอพื้นที่ด้านหลังโชว์รูม "ผมขอเอาฟักทองมาปลูกจะได้ไหม" คุณแจมรีบอนุญาต แถมรีบควักเงินให้ไปซื้อเมล็ดพันธุ์อื่นๆ มาด้วย
![]() |
คุณดาว-สุมนพินทุ์ |
"สวนครัวของเล็กซ์ซัสเราทดลองปลูกหลายอย่าง ตั้งแต่พริก คะน้า กวางตุ้ง กะเพรา โหระพา ผักกาดหอม ต้นหอม ต้นผักชี ฟักทอง มะละกอและกล้วย เวิร์กสุดคือผักบุ้ง เพราะไม่กี่วันก็เก็บกินได้ เคยปลูกข้าวโพดแต่มันเหี่ยวไปหน่อย" คุณแจมเล่า ถามว่าลงทุนไปกี่สตางค์ คุณแจมบอกว่าไม่เคยคิด ..ก็คงไม่ได้คิดจริงๆ ขายรถคันหนึ่งราคา 10 กว่าล้านบาท ต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ซองละ 8 บาท จึงเป็นอะไรที่ไม่นับ
แต่ที่นับได้ คือความปลื้มของคุณแจมเอง ที่พนักงานรู้จักคิดและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ทุกคนในบริษัทตื่นเต้นกับแปลงผักแปลงนี้มาก "วันไหนตะไคร้แตกกอสะพรั่ง วันนั้นพวกเราได้กินน้ำตะไคร้กันทั้งบริษัท มันเป็นอะไรที่ปลื้ม ผักผลออกดอกออกใบกินกันไม่ทัน เศรษฐกิจพอเพียงน้องยามก็จัดแจงเอามากำเลย กำขายมัดละ 5-10 บาท เป็นรายได้ของเขา เป็นตัวอย่างสอนทุกคนในบริษัทให้รู้จักคิด รู้จักมอง และรู้จักใช้ประโยชน์ในทุกรายละเอียดของชีวิต" นี่...ไคเซนซะเลย
http://www.posttoday.com/lifestyle.php?id=44434
Windows Live™: Keep your life in sync. Check it out!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น