ข่าวสาร ข้อมูล ทุกด้านต้องรับฟัง ไม่เชื่อสิ่งที่เห็น ฟังข่าวสารเพียงฝ่ายเดียว ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew ● ปรึกษาปัญหากฏหมาย ละเมิด,สัญญา,อายัดทรัพย์ ยึดทรัพย์ ปัญหาติดต่อราชการ ฟรี ● พิมพ์รายงาน,ค้นหาข้อมูล, ● งานพิมพ์ Lay-Out,Art Work สำนักพิมพ์ดาวหาง www.sanamluang.bloggang.com สนใจติดต่อสอบถาม workingmailhome@hotmail.com

"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

ฉันไม่ชอบกฎหมาย
Blognone
Bookmark and Share

วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

เปิดบันทึกนักปฏิรูปตกอับ "จ้าวจื่อหยาง" - ความทรงจำเทียนอันเหมินและการเมืองจีน

เปิดบันทึกนักปฏิรูปตกอับ "จ้าวจื่อหยาง" - ความทรงจำเทียนอันเหมินและการเมืองจีน 

อนุสรณ์รำลึกถึงจ้าวจื่อหยาง ในวันที่ 21 ม.ค. 2548 ที่วิกเตอเรียพาร์ค , ฮ่องกง

(รูปโดย Bobby Yip, Reuters)

 

 

อดีตผู้ช่วยของจ้าวจื่อหยาง* ได้เผยแพร่เทปบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับการปราบปรามการชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน (Tiananmen) ซึ่งกำลังจะครบรอบยี่สิบปีในวันที่ 4 มิ.ย. ที่จะถึงนี้

 

20 ปีหลังจากที่กลุ่มนักศึกษาชาวจีนได้ไปชุมนุมที่จัตุรัส ก่อนถูกปราบปรามด้วยรถถังและอาวุธปืนจากกองกำลังรัฐบาลจีนในสมัยนั้นที่เรียกตัวเองว่ากองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (People's Liberation Army - PLA) ก็ได้มีอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์คนหนึ่งทำการเผยแพร่เทปบันทึกเสียงของจ้าวจื่อหยางอย่างเป็นทางการ โดยในบันทึกเสียงดังกล่าวเป็นเสียงของจ้าวจื่อหยางที่เรียกร้องระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาจากรัฐบาลจีน

 

จ้าวจื่อหยาง ตกเป็นจำเลยของความอัปยศทางการเมืองเมื่อมีการปราบปรามการชุมนุมด้วยความรุนแรงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 2532 เขาได้อธิบายไว้ในบันทึกเสียงว่า "มันเป็นโศกนาฏกรรมช็อกโลก ที่ยังไงก็ต้องเกิดขึ้นแม้ว่าจะพยายามหลีกเลี่ยงแล้วก็ตาม"

 

เขาเล่าว่าได้ยิน "เสียงปืนกระหน่ำยิง" (intense gunfire) ในช่วงเย็นของวันที่ 3 มิถุนายน ปี พ.ศ. 2532 ขณะอยู่ในบ้านที่กรุงปักกิ่ง หลังเดียวกับที่เขาถูกสั่งกักบริเวณจนกระทั่งเสียชีวิต เขาได้สรุปไว้ในข้อเขียนเกี่ยวกับความทรงจำทางการเมืองที่ไม่ได้รับการตีพิมพ์ว่า หนทางเดียวที่จีนควรจะเดินไปข้างหน้าคือการเป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

 

"แน่นอนว่า มีความเป็นไปได้ที่ในอนาคตจะมีระบอบการเมืองที่ล้ำหน้ายิ่งกว่าประชาธิปไตยแบบรัฐสภา" จ้าวกล่าว "แต่นั่นเป็นเรื่องของอนาคต ในปัจจุบัน มันไม่มีอย่างอื่นที่ดีกว่า"

 

เขายังได้บอกอีกว่าจีนจะไม่สามารถมีระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง หรือกลายเป็นสังคมสมัยใหม่ที่มีหลักนิติธรรมได้เลยหากปราศจากประชาธิปไตย

 

"แทนที่จะเป็นเช่นนั้น มันเป็นเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ รวมทั้งจีน คือการใช้อำนาจเพื่อแสวงหากำไร เกิดการโกงอย่างกว้างขวาง และสังคมก็แบ่งขั้วกันระหว่างคนรวยกับคนจน"

 

 

อดีตผู้ช่วยนำคำของจ้าวมาเผยแพร่

อดีตผู้ช่วยทางการเมืองของจ้าว ที่ชื่อเปาตง ผู้เคยต้องโทษจำคุก 7 ปี ได้ปล่อยเทปบันทึกเสียงออกมาก่อนหน้าการครบรอบ 20 ปี ของเหตุใช้ความรุนแรงปราบปรามนักศึกษาในปี พ.ศ. 2532 ที่เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยหรืออาจจะมากกว่า 1,000 คน

 

"จ้าวจื่อหยางได้ทิ้งเทปบันทึกเสียงเหล่านี้เอาไว้ นี้เป็นสิ่งที่ตกทอดมาจากเขา" เปาเขียนข้อความจากบ้านในกรุงปักกิ่งที่เขาถูกกักบริเวณ "มันเป็นสิ่งตกทอดที่จ้าวจื่อหยางมอบให้กับชาวจีนทุกคน เป็นงานของผมที่จะส่งมันไปให้โลกรับรู้ในรูปแบบของคำ และเพื่อจะจัดการสิ่งต่าง ๆ"

 

"เนื้อหาของมันมีนัยสำคัญกับประวัติศาสตร์ที่ยังคงส่งอิทธิพลกับประชาชนจีนมาจนถึงทุกวันนี้ สาระสำคัญของประวัติศาสตร์ที่ว่านี้คือการปฏิรูป" เปากล่าว

 

ทางการจีนคอยควบคุมไม่ให้มีการแสดงความเสียใจต่อจ้าวหลังจากวันที่เขาเสียชีวิตคือวันที่ 17 ม.ค. 2548 โดยได้จับกุมประชาชนหลายสิบคนที่มาวางดอกไม้สีขาวเพื่อเป็นเกียรติ์ให้แก่จ้าวจื่อหยางที่บ้านของเขาเอง

 

ขณะที่ในฮ่องกงได้มีการไว้ทุกข์จ้าวอย่างเปิดเผยโดยคนนับพันคน อย่างไรก็ตามหลายคนมองปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นการแสดงการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ของคนฮ่องกงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นในจีน

 

 

ให้เยาวชนจีนได้เรียนรู้

เปาบอกว่าสาเหตุที่เขาปล่อยเทปนี้ออกมาส่วนหนึ่งเพราะต้องการให้เยาวชนจีนในรุ่นนี้ที่ไม่เคยได้ยินชื่อของจ้าวจื่อหยางได้ศึกษา โดยเปาเรียกสิ่งนี้ว่าเป็น "ภาระทางการเมือง" สำหรับเขาเอง

 

"ในจีนแผ่นดินใหญ่ตอนนี้ประวัติศาสตร์ส่วนนี้ถูกปิดผนึกไว้ไม่ก็บิดเบือนไป ฉะนั้นมันจะเป็นประโยชน์หากมีการพูดคุยประวัติศาสตร์ในส่วนนี้ร่วมกับผู้อ่านที่ยังเป็นเยาวชน"

 

"ชื่อของจ้าวจื่อหยางถูกลบออกจากสื่อ ทั้งข่าวสาร หนังสือ วารสาร รวมถึงบันทึกประวัติศาสตร์ภายในจีน" นี้คือสิ่งที่เปาเขียนไว้ในบทความที่ส่งมาพร้อมเทป โดยให้ชื่อบทความว่า "จากเบื้องหลังประวัติศาสตร์สู่เทปบันทึกของจ้าวจื่อหยาง" (The Historical Background to the Zhao Ziyang Recordings)

 

"จ้าวต้องการกล่าวถึงประเด็นการโกงกินของเจ้าหน้าที่และเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวจีนโดยทั่วไปส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ เขาเขียนโดยใช้หลักการทางนิติธรรมเข้าจับ" เปาเขียนถึงความขัดแย้งระหว่างอดีตผู้สอนเรื่องการเมืองให้เขากับผู้นำในยุคนั้นคือเติ้งเสี่ยวผิง

 

"เขา (จ้าวจื่อหยาง) ต้องการกระตุ้นให้ปฏิรูประบอบการเมืองจีนร่วมไปกับการปฏิรูปทางเศรษฐกิจให้ลึกกว่าเดิม มุ่งความสนใจของสังคมทั้งหมดไปสู่ประเด็นการปฏิรูป"

 

ก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนได้เริ่มเพิ่มความแน่นหนาด้านการรักษาความปลอดภัยรอบ ๆ กรุงปักกิ่งก่อนหน้าวันครบรอบเหตุการณ์ทางการเมืองที่มีความอ่อนไหวเช่นนี้

 

ทั้งบทความและการโพสท์ในกระดานข่าวที่มักมีความเกี่ยวข้องอย่างใดอย่างหนึ่งกับเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีก่อนจะถูกลบออกจากหน้าอินเตอร์เน็ต รวมถึงเรื่องที่เรียกร้องให้มีการกู้ชื่อเสียงของจ้าว และหู เย่าปัง ผู้ที่เสียชีวิตในวันที่ 15 เม.ย. 2532 ความตายของหูเป็นชนวนให้เกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา

 

 

ชายคนหนึ่งที่ฮ่องกงกำลังอ่านหนังสือ "Prisoner of the State: The Secret Journal of Zhao Ziyang" หนังสือดังกล่าวจำหน่ายได้ที่ฮ่องกง แต่เป็นหนังสือต้องห้ามบนจีนแผ่นดินใหญ่ (Getty Images)

 

 

เทปบันทึกของจ้าวจื่อหยางถูกนำไปแปลงเป็นหนังสือ

ทางสำนักข่าว BBC ได้รายงานว่ามีการตีพิมพ์และวางจำหน่ายหนังสือเกี่ยวกับความทรงจำของจ้าวจื่อหยางชื่อ "ผู้ถูกรัฐบาลจองจำ: บันทึกลับของนายกรัฐมนตรีจ้าวจื่อหยาง" (Prisoner of the State: The Secret Journal of Zhao Ziyang) โดยฉบับภาษาอังกฤษมีวางจำหน่ายแล้วในฮ่องกง ขณะที่ฉบับของจีนมีแผนวางจำหน่ายในวันที่ 29 พ.ค. ที่จะถึงนี้ โดยหนังสือเล่มดังกล่าวอ้างอิงเนื้อหาจากเทปบันทึกลับที่จ้าวบันทึกเอาไว้ขณะถูกกักบริเวณอยู่ในบ้าน

 

เทปบันทึกความยาว 30 ชั่วโมง ได้ถูกลักลอบนำออกจากจีนเพื่อมาทำเป็นหนังสือ เนื้อหาในนั้นเป็นความลับมากเสียจนลูกสาวของจ้าวจื่อหยางที่ชื่อ หวังยันนาน ยังบอกกับ BBC ว่าเธอไม่รู้เรื่องอะไรที่อยู่ในหนังสือเลย

 

ในหนังสือ "ผู้ถูกรัฐบาลจองจำ: บันทึกลับของนายกรัฐมนตรีจ้าวจื่อหยาง" อดีตเลขาธิการกองทัพระบุไว้ว่านักศึกษาแค่ต้องการให้พรรครัฐบาลแก้ไขข้อผิดพลาด ไม่ได้คิดจะล้มล้าง

 

ด้าน Far Eastern Economic Review รายงานว่า ในหนังสือบันทึกลับของจ้าวจื่อหยางเล่มนี้ มีคนเขียนคำนำคือนักวิทยาศาสตร์ด้านการเมืองจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด รอเดอร์ริค แมกฟาคูอาร์ เขาเขียนในคำนำของหนังสือว่าจ้าวจื่อหยางได้ถ่ายทอดประสบการณ์ตรง "ของการต่อสู้ภายในซึ่งรองรับด้วยความสับสนคลุมเครือที่สามารถรับรู้ได้จากสิ่งที่ปรากฏ" โดยในช่วงเริ่มต้นของเนื้อหา ได้บรรยายถึงการที่จ้าวพยายามยับยั้งการปราบปรามนักศึกษาที่ชุมนุมอยู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมืน และยังบรรยายถึงการที่พวกหัวแข็งในพรรครู้สึกขัดใจ เพราะจ้าวใช้วิธีที่นุ่มนวลโต้ตอบกับกลุ่มผู้ประท้วงจนทำให้ชีวิตเขาต้องจมดิ่งในที่สุด

 

จ้าวจื่อหยางยังได้บรรยายไว้ในหนังสืออีกว่า นายกฯ หลี่เผิง คอยควบคุมอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ ขณะที่เขา (จ้าวจื่อหยาง) เดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือ โดยหลี่เผิงตีพิมพ์บทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์พีเพิลเดลี่ในวันที่ 26 เม.ย. 2532 โดยป้ายสีผู้ชุมนุมว่าเป็น "พวกต่อต้านพรรค พวกก่อความวุ่นวายต้านสังคมนิยม" จ้าวเปิดเผยในหนังสืออีกว่า บทบรรณาธิการชิ้นนี้ทำให้ความโกรธของนักศึกษาที่เพิ่งหนีตายจากจัตุรัสปะทุขึ้นมาอีกครั้งและยิ่งทำให้เกิดการแบ่งแยกเป็นสองฝ่าย จ้าวโต้ว่านักศึกษามีสิทธิที่จะว่ากล่าว พวกเขามีสิทธิที่จะแสดงความเห็นอย่างเสรี และควรจะใช้วิธีการเจรจาให้พวกเขายอมกลับไปเรียนหนังสือ

 

BBC ยังได้รายงานอีกว่าการที่หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ออกมาในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เป็นเหมือนการสร้างความอับอายให้รัฐบาลจีน เพราะทางรัฐบาลจีนไม่เต็มใจที่จะบอกว่ามีอะไรเกิดขึ้นในวันนั้น

 

 

รูปของจ้าวจื่อหยางในปี 2537 หลังถูกสั่งกักบริเวณอยู่ภายในบ้าน

(Reuters Pictures)

 

 

ประวัติของจ้าวจื่อหยาง

จ้าวจื่อหยาง เกิดเป็นลูกของเจ้าที่ดินมีฐานะในเหอหนาน เขาเข้าร่วมยุวชนคอมมิวนิสต์ในปี พ.ศ. 2475 และทำงานใต้ดินเป็นเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงที่มีสงครามกับญี่ปุ่น (พ.ศ. 2480 - 2488) และในช่วงที่มีสงครามกลางเมืองจีน พ่อของเขาถูกสังหารโดยเจ้าหน้าที่พรรคในช่วงปลายทศวรรษที่ 2480s กระทั่งในปี 2508 เขาจึงได้รับตำแหน่งเป็นเลขาธิการประจำกวางตุ้ง

 

ต่อมาจ้าวจื่อหยางได้สนับสนุนแนวคิดปฏิรูปของหลิวเชาหยื่ (Liu Shaoqi) ทำให้ถูกปลดและต้องรับโทษใช้งานหนักในโรงงานเป็นเวลาสี่ปี ขณะที่หลิวถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทรยศ

 

หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2516 จ้าวก็ได้รับการไถ่ถอนความผิดโดยโจวเอินไหล ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการกลางของพรรคและถูกส่งไปยังเสฉวน ซึ่งในขณะนั้นเศรษฐกิจของเสฉวนถูกทำลายไปโดยนโยบาย "การก้าวกระโดดครั้งใหญ่" (Great Leap Forward) และ "การปฏิวัติวัฒนธรรม" (Cultural Revolution) จ้าวจัดการกับเสฉวนด้วยการเสนอให้ปฏิรูปด้านเศรษฐกิจโดยเน้นการตลาดเป็นหลัก ซึ่งประสบความสำเร็จ โดยทำให้อัตราการผลิตทางอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 81 และผลผลิตทางเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ภายในสามปี จนเติ้งเสี่ยวผิงเห็นสิ่งที่ประสบในเสฉวนเป็นต้นแบบของการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน หลังจากนั้นจ้าวจึงได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเรื่อย ๆ จนได้รับตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรคส่วนกลาง (Poliburo Standing Committee) ในปี 2525

 

 

แนวคิดการปฏิรูปจีนของจ้าวจื่อหยาง

ในปี 2526 จ้าวได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี เขาพัฒนาแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบสังคมนิยมให้เอื้อต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน ในขณะที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีมีนโยบายเป็นจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จในเสฉวน โดยให้มีการจัดการอุตสาหกิจด้วยตนเองแบบจำกัด (Limited Self-Management to Industrial enterprises) และเพิ่มการควบคุมผลผลิตทางการเกษตร เขาพยายามพัฒนาพื้นที่ในเขตชายฝั่งด้วยการทำให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษที่จะสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติและสร้างศูนย์กลางการส่งออก ซึ่งทำให้เกิดการเจริญเติบโตทั้งด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเบาตลอดช่วงทศวรรษที่ 2520s แต่การปฏิรูปทางเศรษฐกิจของเขาก็ได้รับการวิจารณ์ว่าทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ

 

จ้าวจื่อหยางยังเชื่ออีกว่าถ้าต้องการความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจก็หนีไม่พ้นการทำให้เป็นประชาธิปไตย (Democratization) จ้าวเป็นคนแรกที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งระบอบผู้แทน โดยใช้ระบอบนี้ตั้งแต่ในระดับหมู่บ้านมาจนถึงระดับสมาชิกในคณะกรรมการกลาง

 

หลายคนเรียกจ้าวว่าเป็นพวกลัทธิแก้มาร์กซิสต์ (revisionist of marxism) เขาเรียกร้องให้รัฐบาลมีความโปร่งใสและเปิดอภิปรายระดับชาติให้มีการคำนึกถึงพลเมืองทั่วไปในกระบวนการสร้างนโยบาย ซึ่งตรงนี้ทำให้จ้าวได้รับความนิยมจากประชาชน ผลจากการรื้อโครงสร้างทางเศรษฐกิจในเสฉวน ถึงขั้นทำให้ประชาชนทั่วไปมีการเล่นคำกันกับชื่อของจ้าวว่า "เยา ฉื่อ เหลียง, จ้าว จื่อหยาง" (yao chi liang, zhao Ziyang) แปลว่า "ถ้าอยากจะเลี้ยงปากท้องตน ก็จงเดินรอยตามคุณจื่อหยาง"

 

ทางผู้สังเกตการณ์จากตะวันตกเล่าว่า ในช่วงที่จ้าวจื่อหยางเป็นเลขาธิการทั่วไปนั้น เป็นช่วงที่จีนสมัยใหม่มีบรรยากาศเปิดกว้างมากที่สุด ข้อจำกัดต่าง ๆ ในเรื่องเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงออกก็ผ่อนคลายลง เปิดโอกาสให้นักวิชาการช่วยออกความเห็นในเรื่องการพัฒนาประเทศ

 

 

จ้าวจื่อหยางขณะกำลังเจรจากับผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน วันที่ 19 พ.ค. 2532 ผู้ที่ยืนอยู่คนที่สองจากทางขวามือคือเหวินเจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีนคนปัจจุบัน ซึ่งในตอนนั้นเป็นคนสนิทของจ้าว (AP Photo)

 

 

ขาลงของนักปฏิรูป

ในเดือนพฤษภาคม 2531 แผนของจ้าวที่จะปฏิรูปราคาสินค้าอย่างเร่งด่วน ทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นเป็นวงกว้างเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่ลุกลาม และทำให้ผู้ที่ต่อต้านเขามีโอกาสดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง เพิ่มการควบคุมทางเศรษฐกิจและเข้มกวดกับการปิดกั้นอิทธิพลจากตะวันตกมากขึ้น ช่วงครึ่งหลังของปี 2531 สภาวะแวดล้อมทางการเมืองของเจ้าก็เริ่มตกต่ำ มีการต่อสู้กับกลุ่มย่อยของพวกผู้อาวุโสในพรรคที่เริ่มไม่พอใจอุดมการณ์ของจ้าว กลุ่มอนุรักษ์นิยมที่อยู่ในกรมการเมือง (Politburo) ก็ไม่ถูกกับเขาเช่นกัน สิ่งเหล่านี้กดดันให้จ้าวต้องต่อสู้ทางการเมืองอย่างหนัก จนกระทั่งหู เย่าปัง อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเสียชีวิต เป็นชนวนให้เกิดการประท้วงใหญ่ขึ้น

 

การชุมนุมในครั้งนั้นมีทั้งนักศึกษา นักวิชาการ และคนทั่วไปในเมือง ที่นอกจากกรณีการเสียชีวิตของหู เย่าปัง นักปฏิรูปอีกคนแล้ว ภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ประชาชนเกิดความยากลำบากก็เป็นอีกชนวนหนึ่งที่ทำให้เกิดการประท้วงใหญ่ จนกระทังในเหตุการณ์ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินปี 2532 ช่วงนั้นจ้าวกำลังไปเยือนเกาหลีเหนือ พวกหัวแข็งในพรรคก็ใช้โอกาสนี้กล่าวหาผู้ชุมนุมว่าเป็น "พวกต่อต้านการปฏิวัติ" โดยที่หลังจากจ้าวกลับจากเกาหลีเหนือ เขาพยายามจะเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมและบอกให้ผู้สื่อข่าวทำข่าวการชุมนุมด้วยความเปิดกว้าง ทำให้จ้าวขัดแย้งกับพรรคและสูญเสียความเชื่อมั่นจากเติ้งเสี่ยวผิง

 

ในคืนวันที่ 18 พฤษภาคม คณะกรรมการกลาง (Politburo) มีมติเร่งด่วนให้ประกาศใช้กฎอัยการศึก โดยมีจ้าวเพียงคนเดียวที่โหวตไม่เห็นด้วย ทำให้มีการประกาศกฎอัยการศึกออกมา โดยหลังจากนั้นก็มีคนเห็นจ้าวเดินไปตามจัตุรัสเทียนอันเหมิน เรียกร้องให้กลุ่มผู้ชุมนุมสลายตัวเพื่อไม่ให้เกิดการนองเลือด แต่ก็มีคนเชื่อว่าจ้าวเป็นผู้สนับสนุนการชุมนุม ทำให้หลังจากเหตุการณ์เขาถูกสั่งกักบริเวณอยู่ภายในบ้าน และใช้เวลาที่เหลืออยู่จนกระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 17 มกราคม 2548

 

 

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

Zhao Ziyang Tapes Reveal Call for Democracy, Radio Free Asia, 14-05-2009

http://www.rfa.org/english/news/china/zhaotapes-05142009092223.html

 

Secret Tiananmen memoirs revealed, Michael Bristow, BBC, 14-05-2009

http://news.bbc.co.uk/2/hi/asia-pacific/8049720.stm

 

Zhao Ziyang's Testament, Paul Mooney, Far Eastern Economic Review, 14-05-2009

http://www.feer.com/politics/2009/may56/zhao-ziyangs-testament

 

 

ประวัติของจ้าวจื่อหยาง

http://en.wikipedia.org/wiki/Zhao_Ziyang




http://www.prachatai.com/05web/th/home/16848

โดย : ประชาไท   วันที่ : 16/5/2552


Insert movie times and more without leaving Hotmail®. See how.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รายการบล็อกของฉัน

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ข่าวสาร ข้อมูล ทุกด้านต้องรับฟัง ไม่เชื่อสิ่งที่เห็น ฟังข่าวสารเพียงฝ่ายเดียว ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew ● ปรึกษาปัญหากฏหมาย ละเมิด,สัญญา,อายัดทรัพย์ ยึดทรัพย์ ปัญหาติดต่อราชการ ฟรี ● พิมพ์รายงาน,ค้นหาข้อมูล, ● งานพิมพ์ Lay-Out,Art Work สำนักพิมพ์ดาวหาง www.sanamluang.bloggang.com สนใจติดต่อสอบถาม workingmailhome@hotmail.com