ข่าวสาร ข้อมูล ทุกด้านต้องรับฟัง ไม่เชื่อสิ่งที่เห็น ฟังข่าวสารเพียงฝ่ายเดียว ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew ● ปรึกษาปัญหากฏหมาย ละเมิด,สัญญา,อายัดทรัพย์ ยึดทรัพย์ ปัญหาติดต่อราชการ ฟรี ● พิมพ์รายงาน,ค้นหาข้อมูล, ● งานพิมพ์ Lay-Out,Art Work สำนักพิมพ์ดาวหาง www.sanamluang.bloggang.com สนใจติดต่อสอบถาม workingmailhome@hotmail.com

"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

ฉันไม่ชอบกฎหมาย
Blognone
Bookmark and Share

วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

งามเลิศในปฐพี/นรา

งามเลิศในปฐพี/นรา
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 17 พฤษภาคม 2552 17:25 น.
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น





    แรกสุดเมื่ออ่านเจอคำแปลชื่อวัด "ชมภูเวก" ว่าหมายถึง "ขอสรรเสริญบริเวณที่เป็นเนินสูง และมีความสงบวิเวก" ผมก็งงๆ สงสัยว่า ถอดความออกมาเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร
 
         แม้กระทั่งขณะเขียนต้นฉบับชิ้นที่แล้ว ผมก็ยังงงอยู่ ได้แต่ว่าไปตามข้อมูลที่อ่านเจอ โดยไม่เข้าใจอย่างถี่ถ้วน
       
        จนจู่ๆ บ่ายวันหนึ่ง ตอนที่กำลัง "เดินเล่น" เพื่อหาอะไรกินแบบ "เอาจริง" ผมก็เพิ่งจะนึกออก
       
        แท้จริงแล้ว เป็นการแปลตรงตัวไม่มีอันใดซับซ้อน "ชม" ก็คือ ชื่นชมสรรเสริญ "ภู" นั้นเป็นภูเดียวกับภูเขาหรือเนินที่สูง "เวก" รวบรัดมาจากสงบวิเวก
       
        ผมดันไปหลงทิศผิดทางอยู่เสียตั้งนาน เพราะเข้าใจไขว้เขวนับเอาคำว่า "ชมภู" รวมติดกัน เลยเกิดอาการตัน เมื่อเปิดพจนานุกรมค้นหาแล้วไม่เจอคำนี้
       
        ผมนั้นตายน้ำตื้นแท้ๆ ทีเดียว จนต้องจิกศีรษะกระชากเส้นผมตัวเอง มาตบหน้าแก้โง่ไปฉาดใหญ่ ตามประสาวัยรุ่นโกงอายุเลือดร้อนอบอ้าว
       
        ...เป็นการทำโทษแบบคิดในใจนะครับ ไม่ได้ลงมือจริงๆ
       
        หมดเรื่องสารภาพบาปนอกโบสถ์แล้ว ก็ได้เวลาเข้าไปดูภาพเขียนแม่พระธรณีที่ถือกันว่า สวยที่สุดในประเทศไทย หรือสวยที่สุดในโลก
       
        ครูบาอาจารย์หลายท่าน นิยมกล่าวถึงแม่พระธรณีว่า "นางธรณี" ซึ่งน่าจะเป็นคำเรียกขานที่ถูกต้องกว่า
       
        อธิบายง่ายๆ คือ "แม่พระธรณี" ไม่ใช่เจ้า ไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่ยักษ์ ไม่ใช่สัตว์ ปราศจากสถานะแน่ชัด ทราบแต่เพียงว่า ท่านทำหน้าที่รักษาแผ่นดิน และเป็นเสมือนประจักษ์พยาน เวลามีผู้ทำบุญกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล น้ำที่เทลงบนดิน ก็จะซึมเข้าไปอยู่ในมวยผมของท่าน
       
        พูดง่ายๆ ว่า แม่พระธรณีเปรียบเสมือนธนาคารแห่งการทำบุญกุศล
       
        ในวรรณคดีต่างๆ เมื่อกล่าวถึงแม่พระธรณี ไม่ว่าจะเป็นงานของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) หรือพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณะเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ล้วนมิได้ใช้ราชาศัพท์ และเรียกขานแต่เพียงว่า "นางธรณี" เหมือนสามัญชน
       
        กระทั่งเพลงไทยเดิมที่เราท่านคุ้นชื่ออย่าง "ธรณีกันแสง" (ที่ถูกจะต้องสะกดอย่างนี้นะครับ เพราะ "กันแสง" แปลว่าผ้าเช็ดหน้า ต่อมาจึงแผลงความหมายกลายเป็น "ร้องไห้" ส่วน "กรรแสง" นั้นไม่มีความหมาย) เดิมก็มีชื่อเพียงว่า "ธรณีร้องไห้" แล้วจึงค่อยคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนมาเป็น "ธรณีกันแสง" ในภายหลัง
       
        เหตุผลสนับสนุนอีกอย่างคือ ประโยคคุ้นหูที่ว่า "แม่พระธรณีบีบมวยผม" ซึ่งก็ไม่ใช้ราชาศัพท์เหมือนกัน
       
        โดยส่วนตัวแล้ว ผมนิยมเรียกว่า "แม่พระธรณี" มากกว่า "นางธรณี" ซึ่งฟังดูห้วนๆ และดูจะเป็นการลดเกียรติของท่านมากไปหน่อย
       
        ผมจึงใช้ "แม่พระธรณี" ตามความคุ้นเคยและสะดวกใจของผมเอง ขณะเดียวกันก็จะเขียนถึงท่านโดยไม่ใช้ราชาศัพท์ ด้วยความเชื่อตามผู้หลักผู้ใหญ่ครูบาอาจารย์แต่เก่าก่อนบอกมา
       
        ส่วนใหญ่ภาพ "แม่พระธรณี" มักปรากฎอยู่ในพุทธประวัติตอน "มารผจญ" ตรงกันหมด
       
        เรื่องมารผจญเป็น "ท่าบังคับ" อยู่เคียงคู่กับจิตรกรรมฝาผนังของไทย ผมได้เคยกล่าวอ้างพาดพิงไปบ้างแล้ว และคงจะมีโอกาสได้เขียนถึงอย่างถี่ถ้วนอีกหลายครั้งในอนาคตเคี้ยวและโค้งอ้อมโลกข้างหน้า
       
        ภาพมารผจญส่วนใหญ่ ออกไปทางดุดันน่ากลัว มีลีลาโลดโผนโจนทะยาน องค์ประกอบภาพเนืองแน่นวุ่นวายโกลาหล เพราะเล่าถึงเหตุการณ์ที่ "ม็อบมาร" รวมพลกันเพื่อมุ่งทำร้ายพระพุทธเจ้า
       
        พร้อมๆ กันนั้น ก็เล่าถึงแม่พระธรณีปรากฎตัวขึ้นสู่ผิวพื้นดิน เพื่อ "สลายม็อบ" ด้วยการบีบมวยผม จนจำนวนน้ำที่พระพุทธเจ้าหลั่งลงดินในการบำเพ็ญบารมีต่างๆ หลายชาติภพ กลายเป็นคลื่นยักษ์โถมท่วมเข้าใส่ จนทัพมารแตกพ่ายกระเจิดกระเจิงเสียรูปทรง
       
        ภาพมารผจญที่วาดไว้ตามวัดต่างๆ จึงสวยแบบดุๆ น่าสะพรึงกลัว ใกล้เคียงหนังแอ็กชันปนสยองขวัญ
       
        ทว่าภาพมารผจญที่วัดชมภูเวก กลับให้ความรู้สึกแตกต่างจากขนบดังกล่าวอยู่เยอะทีเดียว

       
        กล่าวคือ ไม่สู้จะดุร้ายน่ากลัวนัก จุดเด่นของภาพก็ผิดแผกจากมารผจญส่วนใหญ่ที่พบเห็นกัน
       
        ปกติแล้วบริเวณที่ถือกันว่าเป็นไฮไลท์ไคลแม็กซ์หรือลูกชิ้นในภาพมารผจญ ก็คือ จินตนาการอันหวือหวาของครูช่าง ที่จะเขียนภาพมวลหมู่กองทัพมารให้พิสดารพันลึกสุดจะพรรณนา ทว่าจุดเด่นสุดของภาพมารผจญที่วัดชมภูเวก กลับอยู่ตรงภาพแม่พระธรณี
       
        เรื่องนี้มีเบื้องหลังความอร่อยอยู่สองสาเหตุนะครับ
       
        ประการแรกก็คือ โบสถ์วัดชมภูเวกนั้น มีขนาดพื้นที่เล็กมาก ราวๆ 12.80x5.35 เมตร มิหนำซ้ำตอนบนยังมีเพดานไม้ ลักษณะโดยรวมจึงค่อนข้างต่ำ
       
        ครูช่างที่วาดภาพนี้ (ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านสันนิษฐานกันว่า น่าจะเขียนขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลาย) เลือกที่จะวาดตัวยักษ์และไพร่พลมาร ด้วยขนาดใหญ่ตามปกติเช่นเดียวกับวัดอื่นๆ
       
        เหตุที่ต้องวาดตัวใหญ่ๆ ก็เพราะ ตำแหน่งปกติที่นิยมเขียนภาพมารผจญ คือบริเวณตอนบนเหนือประตูทางเข้าโบสถ์ ไปจนจรดเพดาน อยู่สูงและไกล จำเป็นต้องขยายขนาดเพื่อให้ผู้ชมมองเห็นได้เด่นชัด
       
        ผลก็คือ ด้วยเนื้อที่อันจำกัด กองทัพมารในโบสถ์วัดชมภูเวก จึงออกจะว่างโล่งโหรงเหรง มีเพียงฝั่งละ ประมาณสิบกว่าตัวเท่านั้น ขณะที่มารผจญส่วนใหญ่วาดตัวละครแออัดคับคั่งราวๆ ร้อยตัว
       
        กลายเป็น "ม็อบเหงา ๆ" ไปซะยังงั้น
       
        แม้ว่าจะไม่ดุเดือดเลือดพล่าน ไม่โกลาหลอลหม่าน และขาดคุณสมบัติ "อลังการงานสร้าง" ทว่าภาพมารผจญวัดชมภูเวกนั้น ฝีมือเขียนหน้ายักษ์และตัวละครต่างๆ อยู่ในขั้นสวยมาก โดยเฉพาะฝั่งที่วาดน้ำท่วม ครูช่างท่านเขียนรูปปลาและสารพัด โผล่ขึ้นมาเหนือคลื่นน้ำได้น่าเกรงขามอย่างยิ่ง
       
        ความจำกัดเรื่องพื้นที่ ทำให้เชื่อกันต่อไปอีกว่า เป็นเหตุให้ภาพแม่พระธรณี ต้องเขียนในท่านั่งชันเข่าบีบมวยผมแทนท่ายืน
       
        เท็จจริงอย่างไรผมไม่ยืนยัน เท่าที่เคยผ่านตา ผมพบภาพแม่พระธรณีในฉากมารผจญ ทั้งท่านั่งและท่ายืนในอัตราส่วนค่อนข้างใกล้เคียงกัน โดยท่ายืนอาจมีจำนวนเหลื่อมมากกว่านิดๆ
       
        เหตุผลต่อมาที่ทำให้ภาพแม่พระธรณี กลายเป็นจุดเด่นสุดแทนบริเวณอื่นๆ จนผิดจากขนบส่วนใหญ่ เป็นเพราะว่า เคยมีการวาดซ่อมในสมัยรัตนโกสินทร์ (เชื่อกันว่า น่าจะราวๆ สมัยรัชกาลที่ 3)
       
        จิตรกรรมฝาผนังของไทย หายากมากนะครับ ที่จะวาดในยุคไหน แล้วเหลือตกทอดถึงปัจจุบันเป็นฝีมือของยุคนั้นล้วนๆ โดยมากมักจะชำรุดเสียหาย จนต้องเขียนซ่อมขึ้นใหม่ ฝีมือจึงปนกันหลายสกุลช่าง
       
        บางที่บางแห่งหากเสียหายมาก อาจต้อง Restart วาดทับใหม่หมด จนกระทั่งไม่เห็นเค้าในภาพดั้งเดิมเลย
       
        ภาพเขียนในโบสถ์วัดชมภูเวก คงจะกระเทาะหลุดร่อนทรุดโทรมเพียงแค่บางส่วน และเขียนต่อเติมเฉพาะบริเวณที่ขาดหาย ผลที่ปรากฎจึงสะท้อนให้เห็นทั้งฝีมือของสกุลช่างนนทบุรีผสมกับสกุลช่างรัตนโกสินทร์
       
        ผู้เชี่ยวชาญเขาพิจารณาจากลักษณะของลายเส้นง่ายๆ และการใช้สีในโทนสว่าง ซึ่งยังเป็นสไตล์แบบอยุธยาอยู่นะครับ
       
        ร่องรอยของการวาดซ่อมใหม่ มีวิธีสังเกตอยู่เหมือนกัน คือ สีพื้นจะค่อนข้างมืดทึบ นิยมการปิดทอง รวมทั้งเส้นและลวดลายที่วาดอย่างประณีตพิถีพิถัน ตามสไตล์สมัยรัตนโกสินทร์ ต่างจากสมัยอยุธยาที่วาดด้วยลีลาเชื่อมั่นฉับไว
       
        เทียบง่ายๆ ก็เหมือนเขียนด้วยลายมือบรรจงกับลายมือหวัด ซึ่งสวยกันไปคนละอย่าง แบบหนึ่งนั้นสวยวิจิตร ขณะที่อีกแบบสะท้อนถึงความเฉียบขาดเชื่อมั่นและได้ความสด
       
        ลักษณะผสมผสานระหว่างสองสกุลช่าง มีปรากฎให้เห็นในภาพวาดทั่วทั้งโบสถ์เลยนะครับ
       
        ภาพมารผจญวัดชมภูเวก ส่วนที่ยังคงเค้าเดิมเอาไว้ คือ ภาพพระพุทธเจ้าตอนบนสุด และบรรดากองทัพมาร ส่วนบริเวณที่ต่อเติมซ่อมแซมขึ้นใหม่ ได้แก่บริเวณพุ่มไม้ และลูกคลื่น
       
        พุ่มไม้นั้นเขียนด้วยวิธีใช้เปลือกไม้แทนพู่กัน กระทุ้งเป็นพุ่ม แทนการเขียนตัดเส้นทีละใบ
       
        ส่วนภาพคลื่นในจิตรกรรมไทย หากเป็นสมัยอยุธยา นิยมเขียนด้วยการตัดเส้นโค้งซ้อนกันหลายชั้น เป็นคลื่นแบบลวดลายประดิษฐ์ ขณะที่สมัยรัตนโกสินทร์ เปลี่ยนมานิยมวาดให้สมจริง เห็นน้ำเป็นน้ำ
       
        คลื่นในโบสถ์วัดชมภูเวก เห็นร่องรอยเดิมว่าวาดเป็นคลื่นประดิษฐ์นะครับ แต่ขณะเดียวกันก็เห็นการวาดเติมในทางสมจริงอยู่ด้วยเหมือนกัน
       
        อย่างไรก็ตาม จุดที่วาดขึ้นใหม่แบบปราศจากข้อกังขาใดๆ ทั้งสิ้น คือ ภาพแม่พระธรณี
       
        สังเกตได้ง่ายๆ คือ ภาพนี้วาดแบบคัดลายมือตัวบรรจง เนี้ยบเฉียบประณีตไปหมดทุกส่วน

       
        พูดอีกแบบคือ เห็นชัดแจ๋วเลยว่า เป็นคนละฝีมือ คนละสำนัก คนละกระบวนท่า ต่างจากบริเวณอื่นๆ ทั้งผิดจากภาพเดิมสมัยอยุธยา และมีลายเซ็นเฉพาะตัวไม่เหมือนภาพอื่นๆ ที่วาดซ่อมในคราวเดียวกัน
       
        ที่น่าทึ่งคือ ครูช่างนิรนามผู้วาดภาพนี้ ฝีมือยอดเยี่ยมแหวกแนวจากท่านอื่นๆ ที่ทำการวาดซ่อมแซมในตัวโบสถ์ทั้งหมด และเหนือชั้นมากตรงที่ ท่านวาดด้วยลีลาแบบฉบับของตนเอง แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงความกลมกลืน ไม่ "โดด" และหลุดแปลกแยกจากส่วนอื่นๆ ที่เป็นของเดิม
       
        สวยตั้งแต่กรอบรูปซุ้มโค้งปลายแหลม รวมทั้งการลดความแข็งกระด้าง ด้วยการวาดโขดหินยื่นล้ำเข้ามาตรงด้านล่าง ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษอีกอย่างที่ผมไม่เคยเห็นในรูปแม่พระธรณีที่ไหนเลย
       
        ถัดมาคือ การคุมโทนสีดินแดงของฉากหลังให้เข้ากับเส้นสายของตัวภาพแม่พระธรณี และลวดลายในกรอบทั้งหมดอย่างสอดคล้องกลมกลืนเป็นเอกภาพ
       
        ที่โดดเด่นสุดก็คือ ใบหน้าอันสวยประณีต สัดส่วนเรือนร่างของแม่พระธรณีที่งามมาก รวมทั้งความอ่อนช้อยไหวพลิ้วของเส้นสายต่างๆ ซึ่งรับส่งต่อเนื่องกันไปหมด จนเกิดลีลาลวงตาเป็นภาพเคลื่อนไหว
       
        จุดหนึ่งซึ่งใครต่อใครยกย่องว่า งามไม่มีแห่งใดเทียม ได้แก่ บริเวณแขนขวาที่ทอดเหยียดจับมวยผม รวมทั้งปลายนิ้วมือทั้งห้า
       
        ว่าตามหลักกายวิภาคแล้ว นี่เป็นการวาดที่ผิดสัดส่วนไม่สมจริงอย่างรุนแรง แต่จิตรกรรมไทยก็ไม่ได้ชี้วัดตัดสินกันตรงนี้ และถือเอาความงามในเชิงอุดมคติ ด้วยท่วงท่าแบบนาฎลักษณ์เป็นเกณฑ์มากกว่า
       
        ในแง่นี้ พูดได้เต็มปากนะครับว่า ภาพแม่พระธรณีที่วัดชมภูเวก บรรลุถึงขีดขั้นความงามสูงสุด เข้าขั้นน่าอัศจรรย์
       
        ผมเปรียบเปรยว่า ภาพแม่พระธรณีที่วัดชมภูเวก น่าจะเทียบได้กับรูปโมนาลิซ่า ก็เพราะขนาดของทั้งสองภาพนั้น ค่อนข้างใกล้เคียงกัน คือ กระทัดรัด ไม่ใหญ่นัก
       
        อีกอย่างหนึ่งคือ ภาพแม่พระธรณีที่วัดชมภูเวก ท่านก็มีรอยยิ้มล้ำลึกและเป็นยิ้มที่สวยไม่แพ้กัน
       
        วินาทีที่เห็นภาพนี้ครั้งแรก ผมพบว่า "ของจริง" งามกว่าที่เคยเห็นจากรูปถ่ายในหนังสือเป็นไหนๆ
       
        โดยไม่ต้องถามกระจกวิเศษให้ยุ่งยากเสียเวลา ผมเชื่อสนิทใจว่า นี่คือภาพแม่พระธรณีที่งามเลิศในปฐพี



check out the rest of the Windows Live™. More than mail–Windows Live™ goes way beyond your inbox. More than messages

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รายการบล็อกของฉัน

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ข่าวสาร ข้อมูล ทุกด้านต้องรับฟัง ไม่เชื่อสิ่งที่เห็น ฟังข่าวสารเพียงฝ่ายเดียว ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew ● ปรึกษาปัญหากฏหมาย ละเมิด,สัญญา,อายัดทรัพย์ ยึดทรัพย์ ปัญหาติดต่อราชการ ฟรี ● พิมพ์รายงาน,ค้นหาข้อมูล, ● งานพิมพ์ Lay-Out,Art Work สำนักพิมพ์ดาวหาง www.sanamluang.bloggang.com สนใจติดต่อสอบถาม workingmailhome@hotmail.com